In Focus: ชัยชนะของ ‘ปธน.ไช่ อิงเหวิน’ เสียงสะท้อนต้านการรวมชาติที่ชาวไต้หวันส่งถึงจีนแผ่นดินใหญ่

การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นอีกเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความสัมพันธ์ของจีนกับไต้หวัน ซึ่งสั่นคลอนมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ชาวไต้หวันต่างออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีกันอย่างคึกคัก และในค่ำคืนวันเดียวกัน ผลการเลือกตั้งก็ปรากฏออกมาว่า ไช่ อิงเหวิน วัย 63 ปี จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) เป็นผู้คว้าชัยชนะด้วยคะแนนนำคู่แข่งคนสำคัญอย่าง นายหาน กั๋วอวี๋ จากพรรคชาตินิยม หรือก๊กมินตั๋ง (KMT) แบบไม่เห็นฝุ่น ส่งผลให้ไช่ อิงเหวิน ครองตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันได้เป็นสมัยที่ 2

ชัยชนะครั้งนี้ของ น.ส.ไช่ อิงเหวิน อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอนาคตไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลการเลือกตั้งที่ชี้ว่า ไช่ อิงเหวิน ผู้แทนจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยม สามารถกวาดคะแนนไปได้เกือบ 8.2 ล้านคะแนน นำห่างคู่แข่งจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มีนโยบายสนับสนุนการผูกมิตรกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำคะแนนได้เพียง 5.5 ล้านคะแนน สะท้อนให้เห็นถึงความอัดอั้นในหมู่ชาวไต้หวัน ท่ามกลางความหวั่นเกรงภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่

ไต้หวันไม่ใช่จีน และไม่มีวันรวมเข้ากับจีน: แนวคิดสร้างเอกราชสู่ชัยชนะถล่มทลายของพรรค DPP

หากจะพูดถึงปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อการเลือกครั้งประวัติศาสตร์ในไต้หวันที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องการแยกตัวเป็นอิสระจากจีน โดยหากจะอธิบายให้ลึกลงไป อาจต้องท้าวความย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์

ไต้หวันนั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง จนมีชาวตะวันตกและจีนฮั่นเข้ามาปักหลักในยุคล่าอาณานิคม ต่อมาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์หมิงมาเป็นราชวงศ์ชิง ก่อนที่จีนจะเสียดินแดนนี้ให้ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น หลังพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1895 จนกระทั่งญี่ปุ่นส่งคืนไต้หวันให้กับจีนหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1945

ไต้หวันเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นหลังการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงในปี ค.ศ. 1911 หรือที่รู้จักกันในชื่อ การปฏิวัติซินไห่ ซึ่งทำให้จีนเปลี่ยนการปกครองประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้การนำของ พรรคก๊กมินตั๋ง ก่อนจะพ่ายแพ้เสียทีให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดย เหมา เจ๋อ ตุง ในสงครามกลางเมืองจนเจียง ไคเช็ก ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งในขณะนั้น ต้องอพยพลี้ภัยมาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและสถาปนา “สาธารณรัฐจีน” ขึ้นบนเกาะไต้หวัน พร้อมประกาศแยกการปกครองออกจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง

ขณะที่จีนเองไม่เคยยอมรับสถานะดังกล่าวและยังคงยึดถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน โดยพยายามที่จะรวมไต้หวันให้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตลอด ด้วยการยึด “หลักการจีนเดียว” ที่ถือว่า แม้จะแบ่งออกเป็น 2 ดินแดนเอกเทศ แต่ทั้งไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือจีนทั้งหมด

การเมืองไต้หวันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจึงเป็นการขับเคลื่อนกันของ 2 ขั้วแนวคิดระหว่างฝั่งที่สนับสนุนหลักการจีนเดียว ซึ่งนำโดยพรรคก๊กมินตั๋ง กับอีกฝ่ายที่ไม่เอาจีนเลยแม้แต่นิดเดียว นำโดยพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของ ไช่ อิงเหวิน เจ้าของชัยชนะครั้งนี้ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีแนวคิดต่อต้านจีนอย่างสุดโต่ง โดยในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก น.ส.ไช่ มักจะออกมาแสดงความคิดเห็นหรือใช้นโยบายที่สร้างความไม่พอใจ จนทำให้จีนถึงกับน็อตหลุดต้องออกมาตอบโต้ด้วยการซ้อมรบใกล้ ๆ และเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันอยู่หลายครั้ง

ผลเลือกตั้งสะท้อนชาวไต้หวันไม่ยอมรับหลักการจีนเดียว

ชัยชนะอย่างท่วมท้นของไช่ อิงเหวิน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ถือเป็นการกวาดคะแนนเสียงที่ทำสถิติสูงสุด นับตั้งแต่ที่ไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1996 และทำให้เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันที่ดำรงตำแหน่ง 2 สมัยติดต่อกัน โดยทันทีที่รู้ผล น.ส.ไช่ ก็ได้ออกมาเรียกร้องจีนให้หยุดคำขู่ที่จะยึดไต้หวันกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน พร้อมประกาศว่าจะเดินหน้าการปฏิรูปและเสริมสร้างความมั่นคงของชาติให้แข็งแกร่งขึ้น

การเลือกตั้งของไต้หวันครั้งนี้ จึงถูกมองว่า เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนที่กำลังเกรงกลัวภัยคุกคามจากจีน และถูกปลุกเสียงสะท้อนดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่า รัฐบาลจีนจะพยายามรวมไต้หวันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการใช้กำลังหากจำเป็น เพราะตลอดเวลาที่น.ส.ไช่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 เธอก็ชูนโยบายมาตลอดว่า ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน

แม้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะไม่พลิกโผไปจากผลการสำรวจความคิดเห็นก่อนเปิดหีบลงคะแนนเสียงมากนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนนิยมของน.ส.ไช่ ลดต่ำลงหลังจากที่เธอเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกเพียงไม่นาน จากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่างก๊กมินตั๋ง ซึ่งชูนโยบายเอาใจจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการใช้การค้านำการลงทุน กลับได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น จนทำให้พรรค DPP ของเธอพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่างไม่เป็นท่า และต้องออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

แต่หลังจากนั้นไม่นาน น.ส.ไช่ ก็สามารถเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมาได้อีกครั้ง ด้วยการยืนหยัดปฎิเสธหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่รัฐบาลจีนระบุว่า อาจถูกนำมาใช้เพื่อรวมไต้หวันเข้ากับจีนเป็นหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับฮ่องกงและมาเก๊า

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ความรู้สึกปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นจีน ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของชาวไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับจีนแค่เพียงประวัติศาสตร์ แต่มีแนวคิด วัฒนธรรม นิสัยใจคอ และวิถีชีวิต แตกต่างจากคนจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสิ้นเชิง สุดท้ายแล้ว พวกเขาจึงต้องการผู้นำที่นำพาประเทศให้รอดพ้นภัยคุกคามจากจีน มากกว่าที่จะยอมโอนอ่อนสยบให้กับอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้มา

บทเรียนจากฮ่องกง ปลุกกระแสต้านนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ

การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงที่ปะทุขึ้นตั้งแต่กลางปี 2019 ยิ่งตอกย้ำความเคลือบแคลง ไม่ไว้ใจ นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบของจีนในหมู่ชาวไต้หวันให้เพิ่มขึ้นไปอีก ในขณะที่เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นการถูกรวบอำนาจ ครอบงำ และวิธีที่จีนปฏิบัติต่อฮ่องกง จนเกิดเป็นแรงกดดันสู่ความท้าทาย ที่เริ่มจากแค่การชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนจะลุกลามกลายเป็นการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้หลุดพ้นจากกรงเล็บพญามังกร จนกลายมาเป็นวิกฤตทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนในปี ค.ศ. 1997

จีนเองก็ยังคงยืนกรานว่า ไต้หวันจะต้องถูกรวมเข้ากับจีนภายใต้การปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบเช่นกัน แม้จะเป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันยืนยันว่าไม่สามารถยอมรับได้มาโดยตลอด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กระแสต้านจีนในไต้หวันจะถูกปลุกให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะสู้ดีระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันอยู่เป็นทุนเดิม พร้อม ๆ กับคะแนนของฝั่งเสรีนิยมในไต้หวันที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แน่นอนว่า นี่เป็นโอกาสในการทำคะแนนพิชิตใจประชาชนผู้หวาดระแวงอิทธิพลจีน รัฐบาลไต้หวันเองย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป เมื่อครั้งเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนปลายปีที่แล้ว รัฐบาลไต้หวันได้ออกมาประณามจีนว่าเป็น “รัฐเผด็จการ” และเป็นภัยคุกคามสันติภาพ พร้อมกับยืนยันว่าไต้หวันจะไม่มีวันยอมรับนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบอย่างฮ่องกงและมาเก๊าโดยเด็ดขาด

ขณะที่ น.ส.ไช่เอง ก็เคยออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “จีนดำเนินนโยบาย หนึ่งประเทศสองระบบ เพื่อคุกคามไต้หวันและบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค ฮ่องกงกำลังประสบกับความโกลาหลเนื่องจากความล้มเหลวของนโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ยังไม่รวมถึงถ้อยแถลงต่าง ๆ ที่ได้เข้าไปตอกย้ำความหวาดระแวงอิทธิพลจีนในหมู่ชาวไต้หวันให้ฝังรากลึกลงไปมากขึ้น จนทำให้ชัยชนะของไช่ อิงเหวิน และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าครั้งนี้ ได้มาแบบถูกที่ ถูกเวลา ในช่วงที่มีปรากฏการณ์หนุนนำ แต่สิ่งหนึ่งที่มิอาจจะปฏิเสธได้ก็คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากนี้ ก็คือ อนาคตที่ชาวไต้หวันได้เลือกกันมาแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top