ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญปี 2020 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่เคยคาดไว้ แต่ตัวเลขส่งออกในภาพรวมอาจต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ -12.9% เนื่องจากการส่งออกทองและอาวุธที่มีมากในช่วงที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาการส่งออกที่หักลบผลของทองและอาวุธ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี พบว่ามูลค่าการส่งออกหดตัวถึง -4.2%YOY ซึ่งเป็นอัตราหดตัวที่สอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดไว้
อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 เดือนแรก การส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 350%YOY เช่นเดียวกับการส่งกลับอาวุธที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมในช่วง 4 เดือนแรกยังขยายตัวได้ที่ 1.2%YOY ดังนั้น จึงทำให้ EIC คาดว่าการหดตัวของมูลค่าส่งออกโดยรวมทั้งปี 2020 อาจมีการหดตัวน้อยกว่าที่เคยคาดไว้
การส่งออกในช่วง 1–2 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มหดตัวระดับสูง เนื่องจากตรงกับช่วง lockdown ของหลายประเทศทั่วโลก โดยการหยุดชะงักของกิจกรรมเศรษฐกิจในหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ ปิดเมือง (lockdown) ทำให้เกิดปัญหาด้าน supply chain disruption ในระดับสูง โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือและอากาศ ภาวะการค้าโลกจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก สะท้อนจากการส่งออกของหลายประเทศสำคัญที่มีทิศทางหดตัวในระดับสูง และจากเครื่องชี้ leading indicator ด้านการส่งออกในส่วนของ PMI: Export orders และ WTO trade barometer ยังให้ภาพที่ตรงกันว่า ในระยะข้างหน้า การส่งออกมีแนวโน้มลดลงในระดับสูงอย่างรวดเร็ว
การฟื้นตัวของภาคส่งออกมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้า ๆ ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยจากคาดการณ์ของ IMF WEO เมื่อเดือนเมษายน พบว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป และสุดท้ายจะมีระดับต่ำกว่าเส้นแนวโน้มเดิม (trend) ด้วยเหตุนี้ ภาคส่งออกของไทยจึงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกในระยะถัดไปอาจได้รับปัจจัยบวกบางส่วนจาก pending demand ในช่วง lockdown ที่เกิดปัญหา supply chain disruption หลังจากที่มาตรการ lockdown มีแนวโน้มผ่อนคลายในระยะถัดไป แต่ผลบวกที่เกิดจะเป็นแค่ในระยะสั้น และอาจมีขนาดเล็ก เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกของไทยยังถูกกดดันด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รวมถึงความไม่แน่นอนของการระบาด COVID-19
ด้านราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกในภาพรวม เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกหลายประเภทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบหดตัวในระดับสูงย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกในภาพรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมปริมาณส่งออกสินค้าที่ลดลงอยู่แล้ว ทำให้มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มหดตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากนโยบายของสหรัฐฯ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2020 ผู้ประกอบการของสหรัฐฯ ได้ยื่นเรื่องให้ทางการพิจารณาเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (antidumping) กับยางล้อ (passenger vehicle and light truck tires) ที่นำเข้าจาก เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และไทย โดยคาดว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จก่อนเดือนมิถุนายน ทั้งนี้สหรัฐฯ นำเข้ายางล้อจากไทยมากถึง 15.6% ของการนำเข้าจากทั้งโลก และมีการเก็บภาษีในระดับสูงอยู่แล้วที่ 106.4% ซึ่งหากโดนภาษี antidumping เพิ่มเติม จะทำให้อัตราภาษีจะสูงถึง 217.5% ในส่วนของไทย การส่งออกสินค้ายางล้อไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนถึง 8.3% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด (หรือคิดเป็น 1.1% ของการส่งออกรวมของไทย) โดยจะเห็นได้ว่ายางล้อนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย หากทางการสหรัฐฯ มีมติปรับเพิ่มภาษีจริง ก็จะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อภาคส่งออกไทยในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ค. 63)
Tags: SCB EIC, ธนาคารไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, ส่งออกไทย