นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 19 พ.ค.เห็นชอบให้บมจ.การบินไทย (THAI) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ภายใต้คำสั่งศาลทันทีและเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะทำให้ THAI พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด
โดยมอบให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับการจัดทำและดูแลแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลังที่เสนอในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบก่อนเสนอครม.นั้น
พบว่า เมื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟู และคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทยลงต่ำกว่า 50% การบินไทยจะพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะไม่มีกฎหมายรองรับในการที่กระทรวงคมนาคมจะไปกำกับดูแลการบินไทย ซึ่งเมื่อเป็นมติครม.ที่เห็นชอบตาม คนร.โดยให้กระทรวงคมนาคมกำกับการจัดทำแผนฟื้นฟูได้ จะต้องให้กระทรวงการคลังต้องมอบฉันทะ หรือหุ้นที่คลังถือมาให้กระทรวงคมนาคม เหมือนกรณีบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ซึ่งได้ชี้แจงและขอให้ดำเนินการแล้ว แต่กระทรวงการคลังจะใช้สิทธิในการเป็นผู้ถือหุ้น
แต่ทั้งนี้จะต้องแก้มติคนร.ใหม่ โดยตัดความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลออกไป ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังเข้ามากำกับการทำแผนฟื้นฟูได้ในฐานะผู้ถือหุ้น
“คือถ้าคลังไม่แก้ความเห็นนั้น กระทรวงคมนาคมก็จะกำกับแผนฟื้นฟูไม่ได้ เป็นเดทล็อก ไม่มีอำนาจ เพราะไม่มีกฎหมายที่บอกให้กระทรวงคมนาคมไปกำกับบริษัท มหาชนได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทางคลังรับรู้มาตั้งแต่ต้นแล้ว”
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ประเด็นความเห็นของกระทรวงการคลัง ได้รายงานต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งได้มอบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับรมว.คมนาคมและคลังเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ซึ่งรองฯวิษณุระบุว่า ประเด็นความเห็นคลังไม่จำเป็นต้องแก้มติครม. โดยจะมีคณะทำงานที่มี รองฯวิษณุเป็นประธานขึ้นมาเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองประเด็นต่างๆ ก่อนเสนอนายกฯ พิจารณา คือทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นซูเปอร์บอร์ด
โดยเบื้องต้น กระทรวงคมนาคม จะเสนอคณะทำงานร่วมกับรองฯวิษณุ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย 1.นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม 2. นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม 3.นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ 4. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง และกลั่นกรองรายชื่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูยื่นศาล ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี
ขณะที่กระทรวงการคลัง จะส่งผู้แทนเข้าร่วมคณะทำงานของรองฯวิษณุเช่นกัน นอกจากนี้ รองฯวิษณุ ระบุว่าจะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ เช่น อดีตประธานศาลล้มละลาย ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
ในส่วนของคณะผู้จัดแผนฟื้นฟูเพื่อยื่นศาลนั้น ทางกระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอรายชื่อไปหลังจากนี้ โดย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมาได้ประชุมผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom กับประธานบอร์ด และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เพื่อชี้แจงถึงมติครม. และมอบให้ไปช่วยพิจารณารายชื่อบุคคลที่จะเสนอเป็นคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีความรู้เฉพาะทาง ด้านการบิน ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย เป็นต้น โดยทางการบินไทยจะส่งรายชื่อมาให้ในวันที่ 25 พ.ค. นี้
ส่วนการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการเงินนั้น ได้ย้ำให้การบินไทยคัดเลือกตามหลักธรรมาภิบาล ต้องมี TOR เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นถึงความตั้งใจในการฟื้นฟู ซึ่งจะส่งผลเมื่อมีการยื่นศาลและเจรจากัน
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึง ปัญหาสภาพคล่องของการบินไทย นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ต้องเร่งให้มีคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูเข้ามาโดยเร็วที่สุด เพราะจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นมืออาชีพ ซึ่งคณะของรองฯวิษณุ จะพิจารณาหาแนวทางและเสนอนายกฯ เพื่อจะสั่งการไปที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ดำเนินการ
ส่วนการจ่ายเงินเดือนพนักงานนั้น ได้มอบหมายให้บอร์ดและรักษาการ ดีดี ไปหารือกับพนักงานว่า จะใช้วิธีเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ขณะนี้การบินไทยมี 6 หน่วยธุรกิจ ที่สามารถหารายได้ ต้องอยู่บนโลกความเป็นจริง หากตั้งเงื่อนไขว่าเคยได้เงินเดือนเท่านี้ แต่บริษัทไม่มีเงินจ่ายพอจะทำอย่างไร หากจ่ายได้เดือนเดียวแล้วไม่มีจ่ายอีกแล้วจะเอาหรือไม่
โดยขณะนี้ การบินไทยมีสภาพคล่องเหลืออยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่าย ประมาณ 6,000 ล้านบาท/เดือน (ค่าใช้จ่ายสูงสุด ในการประกอบการปกติ ทั้งเงินเดือนค่าโอที ทุกรายการ) ซึ่งปัจจุบัน น่าจะลดลงเนื่องจาก หยุดทำการบิน
สำหรับหนี้สินนั้น ได้มอบหมายให้เร่งทำรายละเอียด ได้แก่ 1. จัดทำบัญชีทรัพย์สิน บัญชีหนี้สิน แจงรายละเอียดหนี้ที่ครบดิว มีเท่าไร 2. ทำบัญชีลูกหนี้ ของการบินไทย เช่น พวกเอเย่นต์ขายตั๋วต่างๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 63)
Tags: THAI, กระทรวงคมนาคม, การบินไทย, จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, ชยธรรม์ พรหมศร, ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ, ถาวร เสนเนียม, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, ฟื้นฟูกิจการ, วิษณุ เครืองาม, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, หุ้นไทย