พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงการขยาย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและมั่วสุมอยู่ จึงเห็นควรให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป แต่อาจพิจารณาผ่อนปรนในบางข้อ เช่น ระยะเวลาเคอร์ฟิว
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ว่า ต้องพิจารณาในภาพรวม ใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งใช้มาตรการทางสังคมร่วมด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เกิดความร่วมมือช่วยเหลือกัน
ทั้งนี้ การพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอน และชี้แจงให้ประชาชนและสังคมเข้าใจเหตุผลอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค. ได้หารือเรื่องเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว การเตรียมการเพื่อรองรับการผ่อนปรนตามมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ เช่น โรงแรมต้องปรับตัวตามมาตรการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะค้างคืนที่โรงแรม โดยจะต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมบ้าง เช่น ระบบแอร์ อาหาร เป็นต้น
การศึกษา การเปิดภาคเรียนในการผ่อนปรนระยะ 4 กระทรวงศึกษาธิการ ต้องปรับแผนงาน เช่น เด็กปฐมวัย – อนุบาล 3 ที่ยังต้องไปโรงเรียน อาจมีการพิจารณาปรับสัดส่วนครูกับนักเรียนลดลง อาจจะต้องจัดเรียนเป็นผลัดๆ ละ 20 คน และมีผู้สนับสนุนครูด้วย โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งจะเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายน เพราะมีศักยภาพและความยืดหยุ่น สามารถรองรับและบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ ในประเด็นที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น การเปิดเรียน เด็กในช่วงวัยต่างกัน การดูแลจะเป็นแบบเดียวกันคงไม่ได้ การเรียนแบบออนไลน์ใช้เฉพาะในช่วงนี้ ช่วงก่อนการเปิดเรียนเท่านั้นเพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ทบทวนการเรียนการสอน และกระตุ้นนักเรียนก่อนเปิดเทอม แต่เมื่อเปิดเทอมแล้วจะต้องเร่งพิจารณาดำเนินการเหลื่อมเวลาเรียน พิจารณาในรายละเอียดของการเรียนการสอน ต้องมีหลักสูตรในการอบรมวิชาชีพครูในลักษณะ tailored made เพื่อความเหมาะสม
นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนของไทยว่าจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เรื่องกระบวนการผลิต จนถึงการนำไปใช้งานว่าประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ หลายขั้นตอน ต้องผ่านการทดลองที่จะต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ส่วนวัคซีนจากต่างประเทศหากประเทศใดผลิตได้ และด้วยความสัมพันธ์ที่มีจะทำให้ไทยได้รับวัคซีนเป็นประเทศต้นๆ
พร้อมขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันอย่างดีปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งการใช้มาตรการทางสังคมในการร่วมกันสอดส่องดูแล การปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ จนทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมายืนในอันดับต้นๆ ของประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, นายกรัฐมนตรี, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, โควิด-19