โบรกเกอร์เห็นพ้อง”ซื้อ”หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) เลือกเป็น Top pick ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มแบงก์ เป็นหุ้น”ปลอดภัย”เนื่องจากรับมือกับคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงได้ดีที่สุดในยุคโควิด-19 โดยคาดเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ เนื่องจากจะเริ่มรับรู้การรวมงบการเงินของธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา) ที่อินโดนีเซียเข้ามา รวมถึงราคาหุ้นปัจจุบันน่าสนใจมี upside มากพอควร
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจพลิกกลับมาดีขึ้น BBL ก็จะฟื้นตัวได้เร็ว จากความเชี่ยวชาญในด้านลูกค้าองค์กร เพราะความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่ยังมีอยู่ โดยปีนี้คาดว่าสินเชื่อของ BBL จะเติบโต 1% ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ที่สินเชื่อหดตัว 1% ขณะที่ตัวเลข NPL ในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่มี 3.4% แต่คาดว่าปีนี้ NPL ของ BBL น่าจะอยู่ 4-4.84% โดย BBL ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บ้าง แต่ก็น้อยกว่าแบงก์อื่น เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อของ BBL ส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่ และ BBL ก็มีการตั้งสำรองฯไว้สูงเกินเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดไว้ ซึ่งบางส่วนสามารถที่จะคืนกลับมาเป็นรายได้ได้ด้วย พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ไว้ที่ 3.2-3.44 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีกำไรสุทธิ 3.58 หมื่นล้านบาท
ช่วงบ่ายราคาหุ้น BBL อยู่ที่ 96.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 0.52% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลบ 0.14%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
หยวนต้า (ประเทศไทย) | ซื้อ | 150 |
เอเชีย เวลท์ | ซื้อ | 150 |
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ | ซื้อเก็งกำไร | 136 |
เคทีบี (ประเทศไทย) | ซื้อ | 130 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) | ซื้อ | 130 |
เอเอสแอล | ซื้อสะสม | 129 |
ฟิลลิป (ประเทศไทย) | ซื้อ | 124 |
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากเศรษฐกิจกลับมา BBL จะฟื้นตัวได้เร็ว จากความเชี่ยวชาญในด้าน Corporate ซึ่งความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่ยังมีอยู่ และ BBL จัดได้ว่ามีสถานะที่แข็งแกร่ง ได้ประโยชน์จากการลงทุนในเพอร์มาตา ที่อินโดนีเซียด้วย รวมถึงราคาหุ้นมี upside จากราคาเป้าหมายมากพอควร
ทั้งนี้ ปีนี้คาดว่าสินเชื่อของ BBL จะเติบโต 1% ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ที่สินเชื่อหดตัว 1% ขณะที่ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่อยู่ระดับ 3.4% แต่คาดว่าปีนี้ NPL ของ BBL น่าจะอยู่ใกล้ระดับ 4% โดย BBL ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บ้าง แต่ก็ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่อื่น เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อของ BBL ส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่ และ BBL ก็มีการตั้งสำรองฯไว้สูงเกินเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ ซึ่งบางส่วนสามารถที่จะคืนกลับมาเป็นรายได้ได้ด้วย
พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ไว้ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท หดลง 9.6% จากปีที่แล้ว
ด้านบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯมีมุมมองเป็นบวกต่อ BBL ที่ซื้อเพอร์มาตา ในอินโดได้ถูกลง โดยของเดิมที่จะซื้อที่ 89.12% ต้องจ่ายที่ 1.77 เท่าของมูลค่าตามบัญชี มีมูลค่าประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท ลดลงมาเหลือ 1.63 เท่า คิดเป็นมูลค่า 7.37 หมื่นล้านบาท ทำให้ BBL ประหยัดเงินให้การเข้าซื้อดีลนี้ได้ 7 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 3.7 บาทต่อหุ้น และเลือก BBL เป็น Top pick โดยยังไม่ได้รวมธนาคารเพอร์มาตาในประมาณการ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่ม upside ต่อประมาณการกำไรสุทธิราว 10%
ขณะที่เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) BBL ได้โอนชำระค่าหลักทรัพย์เพอร์มาตา สัดส่วน 89.12% เป็นเงิน 7.37 หมื่นล้านบาท ให้กับ พีที แอสทรา อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ส่วนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯมอง BBL เป็นหุ้น”ปลอดภัย” เนื่องจากรับมือกับคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงได้ดีที่สุด ด้วยอัตรา LLR/สินเชื่อ ที่ 8.2% เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่ม 4.3% ในไตรมาส 1/63 ธนาคารมีสินเชื่อในภาคการท่องเที่ยวและบริการประมาณ 8% ผู้บริหารระบุส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีงบดุลแกร่ง ด้านราคาหุ้นน่าสนใจ P/BV ปี 63 ที่ 0.4 เท่า และ PE 6 เท่า
BBL ปรับเพิ่มคาดการณ์การตั้งสำรองฯปี 63 เป็น 1.5-2 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการปิดเมือง กระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่จะแย่ลงในไตรมาส 3 นี้แต่เชื่อมั่นว่าระดับ LLR ปัจจุบันน่าจะเพียงพอสำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนั้น จึงคาดการณ์อัตราส่วน NPL จะสูงขึ้น 4.84% และตั้งสำรองเพิ่มเป็น 2.05 หมื่นล้านบาทในปี 63
สำหรับบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ชอบ BBL เนื่องจากมีข้อได้เปรียบจากการเร่งตั้งสำรองมาหลายปีจนปัจจุบันมี
Coverage Ratio ที่ 204% ทำให้มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม อีกทั้งราคาปัจจุบันมี Upside จากมูลค่าพื้นฐานที่ 150 บาท และคาดให้ Div. Yield อีก 6.7%
ทั้งนี้ คงมุมมองเชิงบวกต่อ BBL โดยคาดเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งจะเริ่มรับรู้งบการเงินของเพอร์มาตา เข้ามาในงบการเงินรวม อีกทั้งด้วยจุดเด่นของ BBL ที่มีสัดส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจสูงถึง 43% ของพอร์ตและให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับหลายบริษัท จะทำให้ BBL เป็นผู้ได้ประโยชน์มากสุดในกลุ่ม จากการที่ภาคธุรกิจหันมาใช้สินเชื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงที่เกิดปัญหาในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ทำให้ยังคงคาดปีนี้ BBL จะมีกำไรสุทธิ 3.44 หมื่นล้านบาท หดตัว 4% จากปีที่แล้วตามประมาณการเดิม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 63)
Tags: BBL, Consensus, ธนาคารกรุงเทพ, ธุรกิจธนาคาร, หุ้นกลุ่มธนาคาร, หุ้นไทย