สธ.เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลรองรับโควิดระบาดรอบ 2

นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความก้าวหน้า แพลตฟอร์มดิจิทัลรองรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดพัฒนาแพลตฟอร์มในการรวบรวมข้อมูลด้านสาธารณสุข Digital Healthcare Platform มาใช้ในการดูแลสุขภาพทั้งประเทศ โดยอยู่ระหว่างการของบประมาณ แต่พอมีสถานการณ์โควิด-19 ได้ขอความร่วมมือจาก บมจ. กสท. โทรคมนาคม ให้ช่วยดำเนินการให้ก่อน ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกระบบของงานบริการเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 มาไว้ที่ส่วนกลาง

สำหรับภารกิจมีอยู่ 4 เรื่อง คือ การควบคุมป้องกันโรค ภารกิจตรวจเพื่อวินิจฉัยและยืนยัน ภารกิจเรื่องการรักษา และภารกิจสนับสนุนเรื่องทรัพยากรให้กับภารกิจทั้ง 3

“ทั้ง 4 ภารกิจจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันและมีความสอดคล้องและตอบสนองกันได้อย่างทันเวลาก็ต้องอาศัย National Healthcare Platform มาช่วยจัดการเรื่องนี้ และสิ่งที่ต้องเตรียมคือทรัพยากรด้านสุขภาพของประเทศว่ามีเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหรือไม่ ทั้งเตียง เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชุด PPE หน้ากาก N95 เพราะในสถานการณ์ช่วงแรกของการระบาด ระบบส่วนใหญ่ที่ใช้ตอบสนองภารกิจเป็นกระดาษ แต่เราก็พัฒนาให้เป็นระบบดิจิทัล ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันสามารถบอกได้ว่าทรัพยากรมีเท่าไหร่ ผู้ป่วย ณ ปัจจุบันมีเท่าไหร่ มีระดับความรุนแรงของอาการเท่าไหร่ เตียง เครื่องช่วยหายใจมีเท่าไหร่เพียงพอหรือไม่”

นพ.อนันต์ กล่าวว่า หากมีการระบาดรอบ 2 ระบบนี้จะช่วยให้การทำงานได้รวดเร็ว ลดความซ้ำซ้อน ภาระงานของบุคคลากรในการเก็บข้อมูลซ้ำๆ กัน ซึ่งจะลดปัญหาและการ Workload

นพ.เฉวตสรร นามวาท กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” ที่เปิดตัวมาสักระยะหนึ่งแล้ว มีคนดาวน์โหลดไปเกินหลักแสนแล้ว อยู่ภายใต้การประสานบูรณาการกับฐานแอพฯกลางของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)คือ “ไทยชนะ.com”

ลักษณะเด่นของ”หมอชนะ”เป็นตัวบันทึกเส้นทางการเดินทางของประชาชน โดยไม่ระบุตัวตน

“ตรงนี้ทั้งจะเป็นประโยชน์ในการที่จะไปโรงพยาบาลเมื่อมีการแจ้งเตือนขึ้นมา ทั้งประเมินความเสี่ยงลดการซักประวัติคัดกรอง ลดความเสี่ยงในการใช้เวลาซักถามเมื่ออยู่ที่โรงพยาบาล และรองรับช่วงการปลดล็อกมาตรการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เดินทางผ่านจุดต่างๆ ขึ้น และเมื่อไปเชื่อมโยงกับไทยชนะ.com ซึ่งสามารถย้อนดูประวัติในกรณีมีผู้ป่วยยืนยันขึ้นมาก็จะย้อนดูประวัติว่ามีใครที่ไปสถานที่เดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันรายนั้น อาจจะต้องได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top