นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ขณะนี้ บสย. อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเดินหน้าโครงการสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ SMEs กลุ่มเป้าหมาย 2 โครงการ
ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS9) วงเงิน 2 แสนล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 4 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น หลังจากการค้ำประกันในโครงการ PGS8 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะเต็มวงเงินภายในเดือน พ.ค.63
สำหรับความคืบหน้าของมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย” วงเงิน 6 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการแล้ว 4 หมื่นล้าน โดยคาดว่าภายในเดือน มิ.ย.63 ยอดค้ำประกันจะเต็มวงเงิน ซึ่งหลังจากนี้จะหารือกันเพื่อคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยจะต้องมีการปรับขอบเขตการให้ความช่วยเหลือของโครงการเพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้าโครงการได้จะต้องมีประวัติเป็นหนี้เสีย และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้
“โครงการ PGS9 อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วงเงินค้ำประกัน 2 แสนล้านบาท และโครงการ Micro Entrepreneur 4 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการได้ต่อเนื่องกับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพราะโครงการ PGS9 ของ บสย.จะเน้นดูแลกลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มมีปัญหา ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ ธปท.”
นายรักษ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงปลายไตรมาส 3/63 ถึงต้นไตรมาส 4/63 บสย. เตรียมจะเปิดจำหน่ายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มูลหนี้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเปิดขายหนี้เสียครั้งแรก จากปัจจุบันมีหนี้เสียประมาณ 4% กว่า พร้อมทั้งได้เตรียมวงเงินค้ำประกัน 3 พันล้านบาท เพื่อค้ำประกันให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการขอสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารออมสิน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท
นายรักษ์ กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลกระทบในเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้ บสย. ต้องปรับตัว ปรับกระบวนการทำงาน ภายใต้แนวคิดและรูปแบบการนบริหารจัดการองค์กรใหม่
ทั้งนี้ จากการปรับกระบวนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ ระหว่าง ม.ค. – วันที่ 15 พ.ค.63 เติบโตขึ้นจากปีก่อนในทุกมิติ โดยยอดอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อ อยู่ที่ 5.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 103%, การอนุมติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) อยู่ที่ 8.02 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 227% และจำนวนลูกค้าใหม่ อยู่ที่ 6.42 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 216% การเติบโตทั้งหมดเป็นผลจากการปรับทัศนคติ ปรับกระบวนการทำงาน และการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือจากพนักงานทุกคน
ปัจจุบัน บสย. ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันสะสมให้ผู้ประกอบการแล้ว 9.05 แสนล้านบาท มีภาระค้ำประกันสะสม 4.21 แสนล้านบาท และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินแล้วจำนวน 4.78 แสนราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 63)
Tags: SMEs, Soft Loan, ค้ำประกันสินเชื่อ, ธปท., บสย., รักษ์ วรกิจโภคาทร, สศค, เยียวยา, เอสเอ็มอี