- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 3,034 คน (+1)
- รักษาหายแล้ว 2,888 คน (+31)
- ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 90 คน
- เสียชีวิตสะสม 56 คน (-)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine
จำนวนผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,034 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 31 ราย ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วรวม 2,888 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 90 ราย ต่ำกว่า 100 แล้ว ขณะที่ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 56 ราย
ผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 45 ปี อาชีพเชฟร้านอาหารไทย เดินทางกลับจากประเทศบาห์เรน ถึงไทยวันที่ 15 พ.ค. 63 เข้าพัก State Quarantine ในกทม. ตรวจหาเชื้อวันที่ 18 พ.ค. แต่ไม่ได้มีอาการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ ก.พ.-19 พ.ค.63 มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อ 101 ราย จากจำนวนผู้ที่เข้ามาอยู่ใน State Quarantine รวม 22,222 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อเพียง 0.45% ขณะที่ทั่วประเทศมีการตรวจหาเชื้อแล้ว 3.28 แสนตัวอย่าง หรือคิดเป็น 4,926 คน/ประชากร 1 ล้านคน พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพียง 0.92% จากจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจ ซึ่งเทียบได้ว่าตรวจ 100 คน เจอติดเชื้อไม่ถึง 1 คน ซึ่งถือว่าการควบคุมโรคของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีกว่าอีกหลายประเทศ
“เรากวาดคนที่ไม่ได้มีโอกาสติดเชื้อเข้ามาตรวจได้มากกว่า พยายามให้มีกลุ่มที่ตรวจสอบได้กว้างมากขึ้น…แต่เรายังไม่พอใจจำนวนการตรวจที่ 3 แสนกว่าตัวอย่าง ซึ่งต้องเพิ่มการตรวจให้ได้มากกว่านี้ ดังนั้นใครที่คิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง มาขอรับการตรวจได้เลย” โฆษกศบค.ระบุ
สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในไทยนั้น ล่าสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสบความสำเร็จการใช้วัคซีนกับหนูทดลองแล้ว และกำลังเตรียมทดสอบวัคซีนกับลิงในสัปดาห์หน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการใหดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอสำหรับคนไทย พร้อมกับประสานเตรียมการผลิตวัคซีนชุดแรกกับโรงงานในสหรัฐและแคนาดาแล้ว เพื่อนำมาใช้ทดสอบกับคนตามขั้นตอนมาตรฐานสากล
“วัคซีนของไทย คาดว่าจะได้ใช้ปีหน้า คนไทยทำเอง ตอนนี้อยู่ในขั้นทดสอบกับหนู เตรียมทดลองใช้กับลิงในสัปดาห์หน้า เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA…ต้องดีใจกับคนไทย และชื่นชมนักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีความคืบหน้าไม่แพ้ชาติอื่น” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจจากบริษัท YouGov ประเทศอังกฤษ ที่สำรวจพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ของประชาชนใน 6 ประเทศอาเซียน (สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย) จำนวน 12,999 ตัวอย่าง พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัย และการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีคนไทยถึง 95% ที่ระบุว่าใส่หน้ากากอนามัยและใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยที่สุด
สำหรับผลการตรวจกิจการ/กิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 2 ข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ค.63 มีการตรวจทั้งหมด 17,588 แห่ง พบว่ามีเพียง 5 แห่งที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ส่วนที่ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ไม่ครบถ้วน มี 1,863 แห่ง เช่น กองถ่าย, สถานออกกำลังกาย, ร้านตัดผม และห้องสมุด เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของกิจการที่ปฏิบัติไม่ครบตามมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ได้ใช้การตักเตือนรวมถึงให้คำแนะนำแก่ร้านค้า โดยจะมีการเข้าไปตรวจซ้ำ ซึ่งหากตรวจแล้วยังไม่ผ่านก็จะขอให้ปิดเพื่อปรับปรุงอีกครั้ง
ส่วนการใช้งานเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com พบว่าข้อมูลถึงวันที่ 19 พ.ค.63 มีร้านค้ามาลงทะเบียนแล้ว 67,904 ร้าน ส่วนจำนวนผู้ใช้งาน 5,077,978 คน โดยประเภทกิจการที่ผู้ให้บริการเข้ามาลงทะเบียนไว้มากสุด คือ กลุ่มร้านอาหาร, เครื่องดื่ม, ภัตตาคาร, ศูนย์อาหาร 17,362 ร้าน รองลงมาเป็นห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า, คอมมูนิตี้มอลล์ 13,538 แห่ง อันดับสาม ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง 11,156 แห่ง อันดับสี่ ธนาคาร 4,891 แห่ง เป็นต้น
“มีข้อที่ต้องดู ร้านค้าต่างๆ น่าจะต้องมีมากกว่า 11,000 แห่ง เพราะแค่ร้านสะดวกซื้อเจ้าเดียวทั่วประเทศก็มีสาขาอยู่เกิน 12,000 แห่งแล้ว ดังนั้นผู้บริหารของร้านสะดวกซื้อทั้งไทยและต่างประเทศ ต้องช่วยกันลงทะเบียนให้มากกว่านี้ เพื่อให้เรามีระบบป้องกันพี่น้องประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งศบค.มีความห่วงใย เพราะร้านเล็กๆ จะมีความแออัด ดังนั้นขอให้มาลงทะเบียนเพิ่มมากขึ้น” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
ส่วนที่มีข้อสงสัยถึงการเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้ในระบบถึง 60 วันนั้น โฆษก ศบค.ชี้แจงว่า ระยะเวลาดังกล่าวเป็นตัวเลขที่อยู่บนหลักการและเหตุผลโดยใช้ประสบการณ์จากการแพร่ระบาดในประเทศไทยในกลุ่มของสนามมวย ซึ่งพบว่ามีการแพร่เชื้อต่อไปได้ถึง 4 รุ่น แต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน ดังนั้นโอกาสที่เชื้อจะแพร่ไปได้ 4 รุ่น รวมระยะเวลาประมาณ 60 วันหรือ 2 เดือน นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ต้องมีการเก็บข้อมูลของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการห้างร้านต่างๆ ไว้ถึง 60 วันก่อนที่จะลบออกระบบ
สำหรับสถานประกอบการหรือกิจการ/กิจกรรมที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวถึงความเดือดร้อนจากที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ เช่น สนามมวย ร้านนวดแผนโบราณนั้น นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ทางศบค.เข้าใจดีถึงความเดือดร้อนดังกล่าว การแบ่งกลุ่มผ่อนคลายกิจการออกเป็นระยะต่างๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่แท้จริง หากในช่วงนี้ร้านค้าหรือกิจการใดยังไม่ใช่กิจการที่ได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 2 ก็ควรใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อมของกิจการเพื่อให้เข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการในระยะถัดไป
“ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเป็นหลักเดียวไปเรื่อยๆ ท่านก็มีโอกาสจะได้รับการผ่อนคลาย สิ่งสำคัญคือ เวลาตอนนี้ต้องไม่ผ่านไปเฉยๆ ฝากให้ช่วยดู ช่วยคิดว่าร้านของท่านจะนำหลักปฏิบัติ 5 ข้อไปใช้กับร้านของท่านได้อย่างไร เช่น ผับ บาร์ จะมีนวัตกรรมอะไรมาทำให้ร้านของท่านเกิดความมั่นใจกับผู้ใช้บริการ ว่าไปแล้วจะไม่ติดเชื้อ ซึ่งกิจการก็จะได้เปิดได้ ขอให้เตรียมพร้อมไว้ก่อนเลย…ถ้าเราเห็นเลขหลักเดียวแบบนี้เรื่อยๆ กิจการที่แม้จะมีความเสี่ยงสูง แต่ถ้ามีวินัยดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี ก็มีโอกาสจะกลับมาเปิดได้ปกติ แต่ต้องอยู่ในชีวิตวิถีใหม่” โฆษก ศบค.ระบุ
ด้านนพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคโควิด 19 รายใหม่จำนวนต่ำกว่า 10 รายต่อเนื่องมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ รวมถึงความร่วมมือเป็นอย่างดีของประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตามโอกาสในการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากยังมีคนไทยจากต่างประเทศทยอยเดินทางเข้ามาทุกวัน ซึ่งรัฐบาลได้จัดสถานที่กักตัวเพื่อเฝ้าระวังควบคุมโรค (State Quarantine) ไว้รองรับ โดยทุกคนจะต้องเข้ารับการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคเป็นเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาตให้กลับภูมิลำเนา และหากพบว่าป่วยจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที
“ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดภายในประเทศ”
สำหรับกรณีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ประสบความสำเร็จในการใช้พลาสมาของผู้ที่หายป่วยโควิด มารักษาผู้ป่วยรายใหม่สำเร็จนั้น นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า การที่มอ.หรือ รพ.อื่นๆ จะเริ่มให้ใช้นั้นก็จะเก็บข้อมูลว่าแต่ละรพ.ที่มีการใช้พลาสมานั้นได้ผลเป็นอย่างไร การเริ่มต้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การรวบรวมข้อมูลก็ต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตามระดับภูมิคุ้มกันบุคคลไม่เท่ากัน จึงอยู่ที่แพทย์เป็นผู้พิจารณา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19