คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานแนวโน้มสัดส่วนผู้สูงวัยของไทยพุ่งเป็น 31.28% ในปี 83 จาก 18% ในปีนี้
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยประมาณการณ์ว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคนในปี 63 เป็น 67.2 ล้านคนในปี 71 หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตรา -0.2% ต่อปี ทำให้ในปี 83 คาดว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน
ขณะที่ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด – 14 ปี) มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 63 จำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน (16.9%) ลดลงเป็น 8.4 ล้านคน (12.8%) ในปี 83 ส่วนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 63 มีจำนวน 12 ล้านคน (18%) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (31.28%) ในปี 83 โดยในปี 62 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุโดยตลอด
สำหรับประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน (65%) ในปี 63 เป็น 36.5 ล้านคน (56%) ในปี 83 โดยอัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 63 มีวัยแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คนในปี 83 ส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 63
อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายในปี 63 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี และในปี 83 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากอายุยืนกว่า ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 83 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพศชาย 71 คน ต่อเพศหญิง 100 คน และจะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป เพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน
โครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาคในปี 83 กรุงเทพฯ มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด ส่วนภาคเหนือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และภาคใต้จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ นอกจากนี้ภาคตะวันออกมีการเติบโตของประชากรเมืองมากที่สุด 5.3% ต่อปี เฉพาะ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ในส่วนของรัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สำหรับกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาลมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการออม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ และการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ
ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุได้มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น เน้นการเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ การออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุ ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกิจกรรม CSR ภาคประชาชนในการสร้างงานผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ
พร้อมทั้งจัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจ ป้องกัน และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 63)
Tags: คณะรัฐมนตรี, จำนวนประชากร, สภาพัฒน์, สังคมผู้สูงอายุ