ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะหดตัวลึกกว่าช่วงครึ่งปีหลัง โดยในไตรมาส 2/63 คาดว่าจะหดตัวลึกที่สุดราว -10% ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 63 หดตัวราว -5.0% หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงอีกระลอก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเทียบไตรมาสต่อไตรมาสในช่วงครึ่งปีหลังอาจเป็นบวกได้ เนื่องจากมีการปลดมาตรการล็อกดาวน์
ขณะที่ทั้งปี 63 ภาพรวมการใช้จ่ายครัวเรือนคาดว่าจะหดตัวที่ -1.5% ท่ามกลางภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากสถานประกอบการหยุดชั่วคราวในช่วงเดือน เม.ย.รวมถึงธุรกิจที่ทยอยปิดกิจการ ส่งผลต่อกำลังซื้อประชาชนและบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทน
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงในไตรมาสที่ 2 และไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้เร็ว เนื่องจากแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้เงื่อนไขการรักษาระยะห่างโดยเฉพาะในภาคบริการ ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ขณะที่รายรับถูกจำกัดด้วยทั้งกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงเงื่อนไขการรักษาระยะห่าง
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องหันกลับมาพึ่งพิงตลาดในประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก โดยมีมาตรการภาครัฐที่กำลังดำเนินการอยู่จะช่วยประคับประคองการดำรงชีพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังไม่กลับมาเป็นปกติดังเดิม ดังนั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าอาจยังคงติดลบอยู่เล็กน้อย ขณะที่มีความเสี่ยงจากไวรัสโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกในระลอกที่สองเหมือนในประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในการประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ที่หดตัว 1.8%YoY ถือว่าหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ -4.0%YoY ถึงแม้ภาคท่องเที่ยวจะเริ่มได้รับผลกระทบแต่การใช้จ่ายครัวเรือนยังสามารถขยายตัวได้ดีจากแรงหนุนของการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรค
ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่แรกของปีนี้ที่หดตัว 1.8%YoY มาจากปัจจัยลบหลายประการทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาวะภัยแล้ง และความล่าช้าของการเบิกจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ส่งผลให้แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยแทบทุกตัวหดตัวลง ยกเว้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ 3.0%YOY ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราวจากการซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นก่อนการประกาศล็อกดาวน์ในเดือน เม.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 63)
Tags: จีดีพี, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย, โควิด-19