นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า จากเอกสารงบการเงิน ลงวันที่ 31 ธ.ค.61 ที่พรรคการเมืองทุกพรรคนำส่ง กกต.ภายในเดือน พ.ค.62 พบว่ามีพรรคการเมืองถึง 18 พรรคที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงิน ได้แก่
- พรรคพลังศรัทธา มีรายการเงินกู้ระยะสั้น 300,000 บาท
- พรรคพลังชาติไทย เงินกู้ระยะสั้น 113,988 บาท
- พรรคไทยธรรม เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 1,000 บาท
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย เงินกู้จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกัน 5,000,000 บาท
- พรรครวมใจไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 45,697.86 บาท
- พรรคอนาคตใหม่ เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 161,200,000 บาท
- พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 226,000 บาท
- พรรคพลังไทยรักชาติ เงินกู้ยืมหัวหน้าพรรค 85,000 บาท
- พรรคเมืองไทยของเรา เงินกู้ยืมระยะสั้น 542,750 บาท
- พรรคเพื่อชีวิตใหม่ เงินกู้ยืมระยะยาว 50,000 บาท
- พรรคเงินเดือนประชาชน เงินกู้ยืมจากกรรมการ 822,183.70 บาท
- พรรคไทรักธรรม เงินกู้ยืม กรรมการบริหารพรรค 4,376,000 บาท
- พรรคพลังประชาธิปไตย เงินยืมจากหัวหน้าพรรค 5,584,290 บาท
- พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เงินกู้ยืม 542,125 บาท
- พรรคพลังท้องถิ่นไท เงินกู้ยืมระยะสั้น 1,427,000 บาท
- พรรคไทยรักษาชาติ เงินยืมจากหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค 1,738,868.92 บาท
- พรรคประชาธิปไตยใหม่ เงินกู้ยืมระยะสั้น 4,216,600 บาท
- พรรคชาติพัฒนา เงินกู้ยืม 2,000,000 บาท
นายสมชัย กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ถือเป็นความปรากฏที่นายทะเบียนต้องรับรู้ และหากพบว่าเป็นความผิดต้องชงเรื่องต่อ กกต.เพื่อมีมติดำเนินการ โดยเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ คือเหตุการณ์แรกมีพรรคการเมืองอย่างน้อย 4 พรรคกู้เงินปรากฏในเอกสารงบการเงินปี 56 และเหตุการณ์ที่มีอีก 17 พรรคปรากฏในเอกสารงบการเงินปี 61 นั้น มีนายทะเบียนพรรคการเมืองคนละคน
หากการกู้ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นความผิด และมีการปล่อยปละละเลย นายทะเบียนต้องรับผิดชอบเป็นอันดับแรก และ กกต.อาจต้องร่วมรับผิดในฐานะไม่กำกับดูแลงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่หากบอกว่าไม่ผิด กรณีชงเรื่องเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ ก็จะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบของนายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต.5 ใน 7 คนที่ลงมติส่งฟ้องยุบพรรคอนาคตใหม่ต่อศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องรับผิดชอบต่อมติที่ตนเองลงด้วย
“หากจะยึดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองใหม่ แล้วบอกว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองได้ตามตรรกะการลงมติของ กกต.ชุดปัจจุบัน พรรคไหนกู้ ถือว่าผิดกฎหมาย ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ต้องตัดสิทธิการเมือง ต้องโทษอาญาจำคุก ไม่ว่าจะกู้ 1,000 บาท 1 ล้าน หรือ กู้ 100 ล้าน แปลว่า กู้เหมือนกัน เหมือนลอกข้อสอบจะข้อเดียวหรือสิบข้อ จับได้ก็ต้องปรับตก ไม่มีข้อยกเว้น” นายสมชัย ระบุ
นายสมชัย กล่าวว่า เอกสารที่นำส่ง กกต.มีทั้งหมด 609 หน้า โดยนายจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.เป็นผู้เซ็นรับรองในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เท่ากับว่ารู้เรื่องมาตั้งแต่เดือน พ.ค.แล้วว่ามีถึง 18 พรรคการเมืองที่มีการกู้ยืมเงิน ซึ่งนายทะเบียนต้องนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อ กกต.เพื่อให้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่งว่าผิดหรือไม่ผิด หากบอกว่าผิดจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการยุบพรรคเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนที่ดำเนินการล่าช้า กกต.ต้องไปกำกับนายทะเบียนพรรคการเมืองเอาเอง
ส่วนจะเข้าข่ายว่า กกต.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ขอให้ข้อมูลแต่เพียงเท่านี้ก่อน ไม่ขอชี้นำในประเด็นนี้ แต่ย้ำว่าเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ต้องรายงานต่อที่ประชุม กกต. หากถือว่าเงินกู้เป็นรายการที่เข้าข่ายผลประโยชน์อื่นใดซึ่งได้มาโดยไม่ชอบ โดยเอาหลักเกณฑ์มาตรา 72 ของกฎหมายพรรคการเมืองมาเป็นตัวตั้ง
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 18 พรรคการเมืองที่ระบุว่ามีเงินกู้แล้ว ยังมีอีก 17 พรรคการเมืองที่ระบุว่าเป็นเงินยืม ซึ่งเทียบแล้วถือว่าเงินยืมผิดมากกว่า เพราะเงินกู้มีสัญญา มีดอกเบี้ย มีการใช้คืนตามกำหนด แต่เงินยืมบางพรรควงเงินสูงถึง 30 ล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ยและไม่มีกำหนดใช้คืน หากมองว่าเป็นการครอบงำพรรคการเมืองโดยบุคคล ประเด็นเงินยืมก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ
และหลังจากนี้จะออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อไปว่ามีพรรคการเมืองใดบ้าง หลังจากได้ความชัดเจนจาก กกต. กรณีเงินกู้แล้ว แต่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเสรีรวมไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 63)
Tags: กกต, การเมือง, พรรคการเมือง, สมชัย ศรีสุทธิยากร, อนาคตใหม่