นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการยกเลิกประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563 เพิ่มเติมว่า ตนเองไม่มีอำนาจไปสั่งการ ผู้ที่จะเสนอให้ปลดรายชื่อประเทศคือคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา โดยสามารถปรับเพิ่มหรือปรับลดได้โดยพิจารณาจากปัจจัยเรื่องความเสี่ยง
ทั้งนี้ หากสถานการณ์แพร่ระบาดในประเทศจีนและเกาหลีใต้กลับมามีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นหลักร้อยก็สามารถกลับไปประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออันตรายได้อีก ซึ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้หมด และคงไม่ต้องกังวลเพราะยังมีมาตรการห้ามการเดินทางเข้ามาของสายการบิน
ส่วนจะมีการปลดรายชื่อประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งคณะกรรมการฯ จะมีการพิจารณา ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดนธรรมชาติ และต้องพิจารณาเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วย
นายอนุทิน ยืนยันว่า หากยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว จะนำ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ จะดูแลสถานการณ์ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัย ได้แก่ การรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องทำแม้จะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงช่วงนี้ประชาชนต้องไปฉีควัคซีนไข้หวัด และเฝ้าระวังไข้เลือดออก เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเกิดเคาะซ้ำกรรมซัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, อนุทิน ชาญวีรกูล, เขตโรคติดต่ออันตราย, โควิด-19