นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลเชิงบวกจากการเริ่มมีการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2109 (โควิด-19) เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงซึ่งทำให้ระดับความเครียดของบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนจะมีแนวโน้มที่ลดลงในระยะนี้
แต่ปัญหาด้านสุขภาพจิตจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว การดำเนินงานด้านสุขภาพจิตอย่างเข้มข้นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในงานส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพจิตจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสุขให้ประชาชนบนฐานวิถีชีวิตใหม่ของคนในสังคม
สถานการณ์ผลการประเมินระดับความเครียดของบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนครั้งที่ 4 (27 เมษายน -3 พฤษภาคม) มีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงการระบาดระยะแรก ซึ่งอาจเป็นผลจากการเริ่มมีการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และการดำเนินงานเชิงรุกด้านสุขภาพจิตมากขึ้นในแต่ละพื้นที่
แต่ทั้งนี้ยังมีความจำเป็นในการใช้ แนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (Combat 4th Wave of COVID-19 : C4) ที่กรมสุขภาพจิตได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีการแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพจิต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้กักกัน/ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานโควิด-19 กลุ่มเปราะบางต่อปัญหาสุขภาพจิต และประชาชนทั่วไป/ชุมชน และกลุ่มที่ต้องมีการเน้นการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรสาธารณสุข ผู้เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กลุ่มผู้ป่วย NCD เรื้อรัง และกลุ่มติดสุรา-ยาเสพติด
ทั้งนี้การดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตภายใต้กรอบแนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นี้ ได้ใช้กลไกการเสริมสร้างพลังด้วยวัคซีนใจในระดับต่าง ๆ ได้แก่ วัคซีนใจในบุคคล วัคซีนใจในครอบครัว และวัคซีนใจในชุมชน โดยวัคซีนใจในระดับบุคคล จะเน้นในเรื่องของ การส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟู วัคซีนใจในระดับครอบครัว จะเน้นในเรื่อง 3 พลัง ได้แก่ พลังบวก โดยการมองสถานการณ์ให้เป็นในเชิงบวกเพื่อพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น พลังยืดหยุ่น เป็นบทบาทที่จะสามารถสร้างการปรับตัวและทำหน้าที่ทดแทนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และสุดท้ายพลังร่วมมือเพื่อเป็นพลังในการสร้างความปรองดองและก้าวผ่านวิกฤตไปได้ และสุดท้ายวัคซีนใจในชุมชน โดยสร้างชุมชนที่รู้สึกปลอดภัย สร้างชุมชนทีมีความหวัง สร้างชุมชนที่รู้สึกสงบ สร้างชุมชนที่เข้าใจและโอกาส ใช้ศักยภาพของชุมชน พัฒนาเครือข่ายในการช่วยเหลือสื่อสารและใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา และใช้สายสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมาย ไว้ใจ ให้กำลังใจและส่งต่อเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันในสังคม
สำหรับสถานการณ์การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วงที่ผ่านมานั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 พบว่า 5 ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทย เช่น ปัจจัยด้านความสัมพันธ์, สุรา, การป่วยกายจิต ได้มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยปัญหาสุราที่มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน สำหรับปัจจัยปัญหาเศรษฐกิจนั้นยังคงเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งในด้านของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากระบบรายงานการเฝ้าระวังการทำร้ายตนเองของกรมสุขภาพจิต (รง506s ) พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากฆ่าตัวตายยังคงมีค่าใกล้เคียงกับในช่วงปีที่ผ่านมา (2.1 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) อาจอธิบายได้ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาความสัมพันธ์และการดื่มสุราที่นำมาสู่การฆ่าตัวตายกลับมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม Universal Intervention เช่น มาตรการทางสังคมเศรษฐกิจ และ Selective Intervention เช่น การป้องกันการกลับมาทำร้ายตัวเองซ้ำ ยังคงเป็นมาตรการที่สำคัญต่อการช่วยลดระดับความรุนแรงของอัตราการฆ่าตัวไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ด้านพญ.พันธุ์นภา กิตตรัตนไพบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลจากการห้ามขายสุราในช่วงวันที่ 2-30 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า กรณีดังกล่าวก่อให้เกิดผลดีตามมามากมาย ทั้งช่วยลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลง 5.5 เท่า หลายคนตัดสินใจเลิกดื่มสุรา ลดความรุนแรงในครอบครัวลง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ขณะที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว 5.9% และมีอาการขาดสุรารุนแรง 0.3% หรือประมาณ 181 คนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
เนื่องจากมีผลศึกษาชี้ว่า การดื่มสุราทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น 3-7 เท่า หากเป็นผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 30% และหากเป็นหญิงมีครรภ์จะมีความเสี่ยงเพิ่ม 2.9 เท่า
“ไม่มีปริมาณการดื่มที่ปลอดภัย ทางที่ดีคือการไม่ดื่มเลย ตอนที่ไม่มีเราก็หยุดดื่มได้” พญ.พันธุ์นภา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 63)
Tags: กรมสุขภาพจิต, พันธุ์นภา กิตตรัตนไพบูลย์, วิตกกังวล, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, เครียด, โควิด-19