- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 3,031 คน (+3)
- รักษาหายแล้ว 2,857 คน (+1)
- ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 118 คน
- เสียชีวิตสะสม 56 คน (-)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 3,031 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 1 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วรวม 2,857 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 118 ราย ขณะที่ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 56 ราย
สำหรับผู้ป่วยใหม่ 3 ราย รายแรก เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันในที่ทำงาน กรุงเทพมหานคร เริ่มป่วยด้วยอาการถ่ายเหลว และเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ในวันที่ 15 พ.ค. และรักษาต่อที่โรงพยาบาลในจ.นนทบุรี
รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 55 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันในที่ทำงานเดียวกับรายที่ 1 และเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ในวันที่ 15 พ.ค. และรักษาต่อในโรงพยาบาลเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 1
“2 รายแรก ทำให้ต้องมีการตรวจเพิ่มอีก ขณะนี้มี 6 ราย กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค”
รายที่ 3 เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี อาชีพพนักงานขายสินค้า ภูมิลำเนา จ.ภูเก็ต มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน และเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ในวันที่ 15 พ.ค. และรักษาต่อที่โรงพยาบาลในจ.ภูเก็ต
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 นอก จ.ภูเก็ต ที่มีประวัติเดินทางไป/มาจาก จ.ภูเก็ตในช่วง 14 วันก่อนเริ่มป่วย ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.–17 พ.ค. พบ ผู้ป่วยยืนยันจำนวน 14 ราย โดยพบจากการสอบสวนโรคและการติดตามผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง โดยมีประวัติเสี่ยง ดังนี้ 1.ประกอบอาชีพในภูเก็ต 9 ราย เช่น สถานบันเทิง ร้านนวด ร้านอาหาร โรงแรม ร้านทำผม ห้างสรรพสินค้า 2.วัตถุประสงค์อื่น 5 ราย โดยทั้งหมดนี้ พบในเดือนมี.ค. จำนวน 7 ราย เดือนเม.ย.จำนวน 5 ราย เดินทางไปที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเดือนพ.ค. จำนวน 2 ราย เดินทางไปที่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.เชียงใหม่
“ผู้ป่วยทั้งหลายนี้เป็นการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นเรื่องธรรมดาของโรคระบาด เราไม่ต้องโทษใครและไม่ใช่ประเด็นของแต่ละจังหวัด เรามีอิสระเสรีในการเดินทางไปในทุกที่ แต่ท่านต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงของท่านเอง หากพบว่ามีอาการป่วยก็ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพียงแค่มีอาการเริ่มต้น จมูกไม่ได้กลิ่น รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวมีไข้ก็ไปได้เลย ถ้าเจอได้เร็วก็รักษาได้เร็ว
ขอขอบคุณประชาชนที่ภูเก็ต ที่พยายามดูแลตัวเองทั้งในระดับฝ่ายปกครองและฝ่ายประชาชน แต่อย่างไรก็ตามความมั่นใจ หากภูเก็ตมีการดูแลเป็นอย่างดีแล้วเชื่อว่าตัวเลขผู้ป่วยจะน้อยลงเรื่อยๆ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 1 มี.ค. ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นจำนวนน้อยมาก แต่หลังจากนั้นมีการเพิ่มเลยเรื่อยๆ และในวันที่ 1 เม.ย.มีการแพร่กระจายเชื้อทั่วทั้งประเทศ ภายใน 1 เดือน จนกระทั่งวันที่ 26 มี.ค. ที่มีการประกาศพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จนถึงเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ประเทศไทยกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวเกือบเต็มประเทศ ซึ่งใช้เวลามากกว่าการติดเชื้อ ดังนั้นอย่าให้เกิดการระบาดอีกครั้ง เนื่องจากจะต้องทุ่มเทกำลังและทรัพยากรต่างๆ อีกมากมายในการป้องกัน ส่วนเรื่องของมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้สูญเสียด้านเศรษฐกิจบ้าง แต่ตัวเลขของผู้ป่วยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการตรวจกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนมาตรการว่า จากการสรุปผลการเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในมาตรการหลัก 5 มาตรการ คือ การทำความสะอาด ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ไม่ทำให้แออัด โดยสำรวจใน 6 กลุ่มกิจการ ระหว่างวันที่ 7-15 พ.ค. 2563 จำนวน 2,375 แห่งทั่วประเทศ พบว่า
1.กลุ่มตลาด มาตรการหลักที่ดำเนินการได้ดี คือเรื่องการสวมหน้ากากตลอดเวลา ส่วนที่ต้องพัฒนาคือ ความแออัด ระยะเวลาไปอยู่ในตลาดนานไป ไม่เว้นระยะห่าง
2.ร้านอาหารและแผงลอย ที่ทำดี คือ การสวมหน้ากาก มีจุดล้างมือ ที่ต้องพัฒนาคือเรื่องทำความสะอาดพื้นผิว
3.ซูเปอร์มาร์เก็ต/มินิมาร์ท ที่ทำได้ดี คือ การล้างมือและเว้นระยะห่าง ส่วนที่ต้องพัฒนาให้มากขึ้นคือการทำความสะอาดพื้นผิวต้องมากขึ้น
4.สวนสาธารณะและสนามกีฬา มาตรการที่ทำได้ดี คือ การสวมหน้ากาก การทำความสะอาด และการรักษาระยะห่าง ทำได้ 100% แต่ที่ยังต้องพัฒนาคือ วัสดุอุปกรณ์กีฬาต้องทำความสะอาดบ่อยขึ้น ม้านั่ง ถังขยะ รวมถึงมีที่ล้างมือให้มากขึ้น
5.ร้านเสริมสวย ที่ทำได้ดี คือ ระยะห่างบุคคล การทำความสะอาด ที่ต้องพัฒนาคือการสวมหน้ากาก ภาชนะรองรับขยะทั้งหลาย
6.ร้านตัดขนสัตว์ ที่ทำได้ดี คือ การล้างมือ การทำความสะอาดภายในร้านประจำทุกวันก่อนและหลังบริการ การจำกัดจำนวนคนที่มา ที่ยังทำได้ไม่ดีคือการทำความสะอาดพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ ต้องสวมหน้ากาก และมีที่ล้างมือ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีการใช้ www.ไทยชนะ.com แพลตฟอร์มที่จะครอบคลุมทั้งประเทศเพื่อลงทะเบียนในส่วนของผู้ดำเนินกิจการ และเช็คอินเช็คเอาท์ผู้ไปใช้บริการ เป็นส่วนของการให้เรทติ้งสำหรับผู้ตรวจประเมิน
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ มีจำนวนร้านค้าลงทะเบียน 44,386 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 2,002,897 คน จำนวนการเช็คอิน 2,658,754 ครั้ง เช็คเอาท์ 1,845,191 ครั้ง การประเมินร้านค้า 1,258,261 ครั้ง และล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น.ของวันนี้ พบว่ามีร้านค้ามาลงทะเบียน 46,744 ร้าน จำนวนผู้ใช้บริการ 2,725,877 คน
โดยกรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 14,187 ร้านค้า ชลบุรี 2,819 ร้านค้า นนทบุรี 2,457 ร้านค้า สมุทรปราการ 1,934 ร้านค้า ปทุมธานี 1,686 ร้านค้า เชียงใหม่ 1,547 ร้านค้า นครราชสีมา 1,363 ร้านค้า ภูเก็ต 1,112 ร้านค้า สุราษฎร์ธานี 983 ร้านค้า ขอนแก่น 865 ร้านค้า
โดยร้านอาหาร, เครื่องดื่ม, ภัตตาคาร, ศูนย์อาหารลงทะเบียนมากที่สุด 11,353 ร้าน รองลงมาคือห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า, คอมมูนิตี้มอลล์ 10,599 ร้าน อันดับ 3 คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง 8,170 ร้าน
“สำหรับการเช็คอิน เช็คเอาท์ของผู้ไปใช้บริการ ถ้าท่านเช็คอินแต่ไม่เช็คเอาท์ ชื่อของท่านยังอยู่ในห้างคนอื่นก็จะเข้าไปใช้บริการไม่ได้นะครับ ซึ่งทุกๆร้านค้า กิจการควรแปะ QR Code กระจายไปหลายๆจุดเพื่อให้ผู้ไปใช้บริการสะดวกสบายในการสแกนเพื่อให้รู้ว่ามีคนเข้าคนออกอย่างไรทำให้ระบบหมุนไปได้”
ส่วนการประเมินภาพรวมในการเปิดห้างสรรพสินค้าวันแรก นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อาจจะมีการขลุกขลักบ้างเราก็ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันและนำเอาปัญหามาพัฒนาไปพร้อมกัน
“ขอบคุณประชาชนและร้านค้าที่ให้ความร่วมมือกันอย่างดี แต่เราเพิ่งเรียนรู้วันแรกจะให้เนี๊ยบให้เนียนเรียบร้อยคงเป็นไปไม่ได้…การผ่อนคลายระยะที่ 2 เพิ่งผ่านมาวันที่ 2 หากครบ 14 วัน ถ้าเราทำได้อย่างดีโอกาสที่ระยะที่ 3 ที่มีกิจการร้านค้ารอที่จะเปิดรออยู่อีกจำนวนมากแม้จะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงๆ แต่ถ้าเราผ่านระยะที่ 2 ที่มีความเสี่ยงปานกลางไปได้ ความเสี่ยงสูงต่างๆเหล่านั้น เช่น ความงามที่ใบหน้า การนวดตัว ก็อาจเกิดขึ้นได้ในระยะ 3 อย่างแน่นอน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ด้านนพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงภาพวันแรกของการคลายล็อกระยะที่ 2 ที่มีภาพความแออัดสูงว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะมีการนำเสนอจากศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าที่ต้องการเปิดดำเนินการ ให้ความมั่นใจว่า จะมีมาตรการต่างๆ อาทิ การคัดกรองตรวจวัดไข้ เจลแอลกอฮอล์ ในที่เหมาะสม การเว้นระยะห่าง การลดความแออัด มาตรการทำความสะอาด
“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุยกันแล้ว แต่ภาพที่ออกมาเป็นภาพที่ยังมีความหนาแน่นของคนที่ไปใช้บริการ แต่วันแรกหลังจากอัดอั้นมานาน ก็อาจจะยอมรับได้ แต่วันถัดไป น่าจะต้องทำให้ได้ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประชาชนทุกคนจะได้ปลอดภัย การ์ดต้องไม่ตก และประชาชานต้องตระหนัก และมีพฤติกรรมใหม่ ใช้หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ”
ทั้งนี้ หากเห็นว่า พื้นที่มีความแออัด เราต้องไม่เข้าไป ไม่งั้นจะไปติดโรคได้ เพราะช่วงหลังๆ เราจะพบว่าผู้ที่ตรวจพบเป็นผู้ป่วยยืนยัน หลายคนเป็นผลบวกทั้งที่มีอาการน้อย จนกระทั่งไม่มีอาการ
“เป็นที่น่าสังเกตุว่าเวลาเราตรวจพบผู้ป่วยยืนยัน เราตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง ปรากฎว่า เขาไม่มีอาการ แต่ตรวจเชื้อเป็นผลบวกเช่นกัน เพระฉะนั้นคนทั่วไปเดินอยู่เราอาจจะไม่รู้ หากไปเบียดเสียดในห้าง อย่างที่เกิดขึ้นมา เราไม่รู้ว่าใครมีเชื้อ คนที่มีเชื้อสามารถแพร่ได้ ตั้งแต่ยังไม่ออกอาการไม่สบาย นี่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคโควิด-19 ต้องระมัดระวังดูแลตัวเองด้วย”
ส่วนที่มีข้อกังวลว่าไวรัสโควิด-19 อาจแพร่ระบาดรุนแรงเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนนั้น นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า เป็นเพียงสมมุติฐาน เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีองค์ความรู้ จึงได้เทียบเคียงกับข้อมูลโรคที่ใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกันได้มีการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดเร็วขึ้น รวมถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีอาการใกล้เคียงกับโควิด-19 เพื่อช่วยให้การรักษาถูกต้องและรวดเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, www.ไทยชนะ.com, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อนุพงศ์ สุจริยากุล, โควิด-19