คมนาคม รอมติคนร.อนุมัติ THAI เข้ากระบวนการล้มละลายยื่นศาลไทย-สหรัฐ ก่อนชงเข้าครม.

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กล่าวถึงแผนฟื้นฟูบมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือในวงเล็กเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูบมจ.การบินไทย (THAI)เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วยการเข้ายื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลล้มละลาย โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันนี้จะพิจารณาทบทวนมติ คนร.เมื่อ วันที่ 29 เมษายน 2563 ก่อนที่จะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ ขณะที่แผนการใช้เงินจำเป็นต้องใช้ปลายเดือนพฤษภาคมนี้

ทั้งนี้ มติคนร.เมื่อ วันที่ 29 เมษายน 2563 รมช.คมนาคม เห็นว่าจะสร้างปัญหาของการค้ำประกันเงินกู้ จำนวน 5.4 หมื่นล้านบาท การบินไทยมีเอกชนถือหุ้นอยู่ 31% การที่ยอมให้รัฐค้ำประกัน หากแผนฟื้นฟูทำไม่สำเร็จ รัฐต้องรับผิดชอบ และในเดือนพฤศจิกายน 2563 เมื่อเบิกเงินกู้ครบแล้ว จะมีการเพิ่มทุนอีก 8.3 หมื่นล้านบาท ถามว่าเอาเงินมาจากไหน ก็ต้องเป็นรัฐที่ใส่เงินเพิ่มทุนไปอีก

“ท่านนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ใน 5 ปีมานี้การบินไทยทำแผนฟื้นฟูไม่สำเร็จและมีการประชุมคณะรัฐมนตรีถึง 8 ครั้งที่มอบหมายให้การบินไทยไปดำเนินการ นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่าหลายครั้งที่ทำไม่สำเร็จ ครั้งนี้ก็ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ดังนั้นการตัดสินใจเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ก็ต้องกลับมาคิดกันอีกครั้งหนึ่ง ผมคิดว่าท่านนายกฯก็กังวล และไม่ใช่ว่าแผนฟื้นฟูนี้จะทำให้สายการบินแห่งชาติของเราล้มละลาย หลังจากศาลรับแผนไปแล้ว ก็สามารถใส่เงินไปได้เพื่อให้สายการบินแห่งนี้เดินต่อไปได้ โดยหลังจากแผนนี้ผ่านศาลล้มละลายแล้ว ก็จะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ได้ชำระหนี้ก่อนซึ่งจะเป็นผลดี”

รมช.คมนาคม กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้

นายถาวร กล่าว การเข้ายื่นสู่กระบวนการล้มละลาย เพื่อรักษาคุณค่าองค์กรและธุรกิจทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวแทนที่จะถูกแยกเป็นส่วนๆหากมีการฟ้องยึดทรัพย์ และให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้อย่างยุติธรรมและเสมอภาค รวมทั้งเพื่อให้การบินไทยมีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รักษาสภาพการจ้างงานไว้ โดยเมื่อดำเนินฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จลูกหนี้จะสามารถชำระหนี้ไม่น้อยกว่าที่ศาลล้มละลายเห็นชอบ

โดยผู้ยื่นต่อศาลล้มละลาย คือเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือ องค์กรของรัฐ ในกรณีของ THAI ก็มีเจ้าหนี้และการบินไทยเองเป็นผู้ยื่นขอเข้ากระบวนการล้มละลาย ซึ่งในการยื่นขอล้มละลายต่อศาล ขึ้นกับองค์ประกอบ และต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ พร้อมมีแผนฟื้นฟู และผู้บริหารแผนซึ่งต้องมีหนังสือยินยอมที่จะเข้าบริหารแผนของผู้ทำแผนด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ที่จะจัดประชุมระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้

ดังนั้น การบินไทยต้องจัดทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จก่อนที่จะยื่นศาลล้มละลาย รวมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ต้องยินยอม หากเจ้าหนี้บางส่วนไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิยื่นร้องคัดค้านได้ทั้งนี้เจ้าหนี้ต้องยอมรับแผน โดยอย่างน้อยแผนดังกล่าวต้องมีรายละเอียดพอสมควร นี่เป็นรายละเอียดสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นศาลล้มละลายก็ไม่สามารถให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้

“เรื่องเจ้าหนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเจ้าหนี้ก็ต้องดูว่าลูกหนี้มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา และมั่นใจขนาดไหนที่จะได้รับการชำระหนี้คืน ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผน ก็จะคัดค้านแผนได้ ทั้งนี้จะมีการประชุมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้โดยพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานในการทำแผน ร่วมกับเจ้าหนี้”

ทั้งนี้ การยื่นขอฟื้นฟูผ่านกระบวนการล้มละลายทั้งศาลไทยและศาลสหรัฐ เนื่องจากการบินไทยมีหนี้สินที่มีสัดส่วนจากต่างประเทศ 30-40% เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้บังคับเอาทรัพย์สินในต่างประเทศ ในช่วงจัดทำแผน เช่น ทำการบินไปสหรัฐ

นายถาวร กล่าวว่า ส่วนที่ปรึกษาเพื่อยื่นล้มละลายทั้งในไทยและสหรัฐ เห็นว่าควรเปิดคัดเลือกเพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างรอบคอบ และเสาะหาผู้ที่มีความสามารถ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีตัวแทนจากเบเคอร์ แอนด์แมคเคนซี่ เข้าร่วมประชุมด้วย นอกจากนี้มีกระแสข่าวว่า สยามกลสยามพรีเมียร์ ของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรมว.คลัง ก็สนใจยื่นเป็นที่ปรึกษาด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top