นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่1/2563 ซึ่งได้ติดตามความก้าวหน้า โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย) ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท
ในส่วนของสัญญาจ้างงาน ระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดอบรมบุคลากร (สัญญา2.3) วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ซึ่งได้ประสานกับทางจีนเพื่อจัดประชุม คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 ในวันที่ 25 พ.ค.63
และ กำหนดไทม์ไลน์ในเดือนมิ.ย. จะรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี ช่วงกลางเดือนมิ.ย.การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ส่งร่างสัญญา ต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อส่งต่ออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา คาดว่าจะสรุปร่างสัญญาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินและเงื่อนไข ภายในเดือนส.ค.และคาดว่าจะสรุปรายละเอียดสามารถลงนามในสัญญาได้ในเดือนต.ค. 2563
ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด – 19 ตั้งแต่ต้นปี2563 ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมคณะกรรมการร่วม ไทย-จีน ได้ ซึ่งล่าสุดจากการประสานกับจีน ตกลงจัดการประชุม VDO Conference โดยจะมีการประชุมเพื่อตกลงในเงื่อนไขสัญญา 2.3 ในเรื่องสกุลเงิน ซึ่งมีวงเงิน 50,633.50 ล้านบาท โดยชำระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์ 80% จำนวน 1,313,895,273 ดอลล่าร์ (40,506.8 ล้านบาท) เป็นสกุลบาท20% หรือ 10,126.5 ล้านบาท
โดยกระทรวงคมนาคมได้เจรจาต่อรองกับจีนของคงสัดส่วน ไว้ แม้อัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากค่าเงินบาทขณะนี้อ่อนตัว ลงจากช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 คือจาก อัตรา30.82 บาทต่อดอลล่าร์ เป็น 32 บาทต่อดอลล่าร์ โดยเชื่อว่า หลังสถานการณ์โควิด-19ยุติ. เศรษฐกิจของประเทศไทยจะพลิกฟื้นกลับมาและค่าเงินบาทจะแข็งค่าเหมือนเดิม ซึ่งจะส่งผลให้วงเงินสัญญา2.3 จะอยู่ในกรอบงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลพยายามควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับที่ดี
“การเจรจาเงื่อนไขในโครงการรถไฟไทย-จีน ไทยไม่เสียเปรียบและไม่ได้เอาเปรียบจีน เป็นความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบรางซึ่งมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่ำ โดยเส้นทางที่เชื่อมจากหนองคาย-โคราช-กรุงเทพ เป็นรถไฟสายหลักที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านระบบรางของอาเซียน”
สำหรับการก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา 100,241 ล้านบาท อยู่ระห่างเร่งรัด เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างตามกรอบ โดยจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 64 เดือน หรือ 5ปีเศษ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 63)
Tags: กระทรวงคมนาคม, การรถไฟแห่งประเทศไทย, รถไฟความเร็วสูง, รฟท., ศักดิ์สยาม ชิดชอบ