ตราสารหนี้ยังให้ Yield สูงกว่าเงินฝาก
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มเติม โดยจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงทำจุดต่ำสุดครั้งใหม่ ซึ่งมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในไตรมาสนี้เพื่อประคองเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งตลาดการเงินโลกกำลังผันผวนอย่างหนักจากการแพร่ระบาด โดยคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ตลอดปี 63 จะขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะสามารถเกิดขึ้นได้ในสองกรณี คือ กรณีฐาน (Base case) สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในครึ่งปีแรก และไม่เกิดการระบาดใหม่รอบ 2 กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาในรูปแบบ New Normal หรือหากกรณีเกิดการระบาดใหม่รอบ 2 รัฐบาลต้องออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกระลอก
หากการแพร่ะระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย และ กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ เข้าสู่ภาวะปกติ จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ในขณะเดียวกันการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอลงด้วยเช่นกัน การฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติคงไม่เร็วเพราะยังไม่มีวัคซีนและยารักษา
ส่วนมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาด้านรายได้และการจ้างงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนให้ประคองการดำรงชีวิตประจำวันเพื่อผ่านวิกฤติไปให้ได้ แต่เศรษฐกิจจะยังคงหดตัวอยู่ในปีนี้
ด้านนายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ. กสิกรไทย กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในตราสารหนี้ หลังจาก ธปท.จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) โดยคาดว่าอุปทานพันธบัตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจาก พ.ร.ก.กู้เงินเยียวยากรณีโรคโควิด-19 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้
ส่วนอุปทานหุ้นกู้จะเป็นปัจจัยลบต่อตลาด อีกทั้งจะมีความผันผวนของตลาดหุ้นกู้เอกชนที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะเครดิตที่อาจชะลอลงจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จากคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยในระบบจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไปอีกระยะ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ยังคงคาดให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาระยะหนึ่ง ทำให้การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนอายุไม่เกิน 3 ปี ดูน่าสนใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีควรเน้นอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A+ ขึ้นไป
บลจ.กสิกรไทย ให้คำแนะนำต่อการลงทุนในตราสารหนี้ โดยแบ่งตามสภาพคล่องของนักลงทุน
กองทุน K-CASH และ K-MONEY ที่จะเน้นเรื่องสภาพคล่องสูงและมีความผันผวนต่ำ
กองทุน K-SFPLUS ในกรณีที่ต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้นแต่จะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย
กองทุน K-FIXEDPLUS เหมาะที่จะถือยาว ระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป
นายชัชชัย กล่าวว่า นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาตลาดกองทุนตราสารหนี้ โดยในเดือนเม.ย.-พ.ค.มียอดไถ่ถอนกองทุนตราสารหนี้น้อยลง เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.
อย่างไรก็ตาม KBank Private Banking คาดว่า แม้โควิด-19 จะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง แต่จะส่งผลกระทบเพียงชั่วคราว และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 63 เนื่องจากประเมินว่ามาตรการทั้งการเงินและการคลังทั่วโลกจะช่วยพยุงและผลักดันเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 63)
Tags: ชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์, ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล, ดอกเบี้ย, ตราสารหนี้, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจไทย