นายสาธิต ปิตุเดชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข จึงทำให้เกิดการพัฒนาและปรับระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ (New Normal Medical Services) และแนวทางการดูแลผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นการรักษาให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล
โดยแยกกลุ่มประเภทผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ดูแลตนเองได้ดี ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ไม่ต้องมาโรงพยาบาล ใช้การจัดส่งยาให้ต่อเนื่อง กลุ่มที่ต้องการปรึกษาแพทย์ด้วยคำถามหรือปัญหาเล็กน้อยบางอย่างโดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ให้บริการ Tele -medicine โดยผ่านระบบการสื่อสาร
และกลุ่มสุดท้ายที่มีความจำเป็นต้องมาพบแพทย์โรงพยาบาลจริง รวมทั้งพัฒนา Digital Solution เป็นเครื่องมือให้แพทย์และคนไข้สามารถติดต่อพูดคุยและปรึกษากัน โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล และใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้อำนวยความสะดวกในการบริการด้วย
นายสาธิต กล่าวว่า สถานการณ์โควิดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องแพทย์วิถีใหม่ เป้าหมายมี 3 ประเด็น คือ
1.เรื่องความปลอดภัย ทั้งโครงสร้าง เช่น เปลี่ยนแปลงห้องฉุกเฉินหรือห้องผ่าตัด ปรับระบบการทำงาน เช่น มีการนัดหมายเพื่อให้มีการเว้นระยะห่างทั้งของบุคลากรและประชาชนที่เป็นผู้ป่วย
2.ลดการแออัด โดยจัดกลุ่มประเภทผู้ให้ชัดเจน จัดบริการให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ใช้ Digital Solution 3.ลดความเหลื่อมล้ำโดยเพิ่มการเข้าถึงและยกระดับคุณภาพของบริการทางการแพทย์ ระบบจัดการข้อมูลภาพรวมทั่วประเทศ เพื่อนำมาวิเคราะห์การแก้ปัญหา
“เป้าหมายที่ประชาชนจะได้รับมี 3 ประเด็น คือ 1.ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ 2.เพิ่มระยะห่างทางสังคม โดยลดความแออัดของการให้บริการที่โรงพยาบาล 3.เพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแพทย์วิถีใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยี ทำให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”
อย่างไรก็ตาม เรื่องการแพทย์วิถีใหม่ เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงในหลายส่วนของการให้บริการของทุกหน่วยบริการ การสู้กับโควิดทำให้เราเรียนรู้ในหลายเรื่องทั้งการติดต่อกันโดยง่าย การติดเชื้อสูงหรือไม่มีการควบคุมการแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นง่ายและจะมีตัวเลขสูงมาก
ด้านนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า กลวิธีในการทำการแพทย์วิถีใหม่ คือ 1.การจัดรูปแบบบริการวิถีใหม่ ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย (Re-design Process (3s:Start Structure System)) เช่น การมีห้องผ่าตัดความดันลบสำหรับผู้ป่วยโควิด เป็นเรื่องที่ทำแล้วและพยายามถอดบทเรียนกระจายไปสู่ภูมิภาค มาตรฐานเหล่านี้จะนำไปสู่การแพทย์วิถีใหม่ 2.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ (Digital Solution)
“ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนหน้า ปัตตานีจะเห็นรูปแบบที่ชัดเจนทั้งจังหวัด อีก 12 เขตจะทำใน 1 ปีข้างหน้าให้เห็นภาพว่าการดูแลคนไข้ต่อเนื่องตั้งแต่จากบ้านไปถึงโรงพยาบาลจังหวัดเป็นอย่างไร”
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้การผ่อนปรนระยะที่ 1 ในกิจการกลุ่มสีขาวเปิดมา 12 วันแล้วและสถานการณ์ผู้ป่วยอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ หวังว่าในวันที่ 17 พ.ค.ทุกห้างต้องร่วมมือในการจัดสภาพแวดล้อมให้มีมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจำกัดจำนวนคนไม่ให้แออัด การคัดกรอง และมาตรฐานการทำความสะอาดของสาธารณสุข
ขณะที่ประชาชนต้องใจเย็นๆ เพราะอาจจะยังไม่สามารถเดินห้างตามปกติได้ ต้องรับให้ได้กับเรื่องใหม่ๆ ให้ความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยส่วนบุคคล การ์ดไม่ตก จะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะมีผู้ป่วยเกิดขึ้นหลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, New Normal, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, สมศักดิ์ อรรฆศิลป์, สาธิต ปิตุเดชะ, อนุพงศ์ สุจริยากุล, โควิด-19