นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ บมจ.ปตท. (PTT) ยืนยันว่า ปตท.มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ จากการประเมินฐานะการเงินผ่านการทำ Stress test ปตท.มั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 63 จะเป็นบวก แม้ในไตรมาส 1/63 จะมีผลขาดทุนสุทธิ 1.55 พันล้านบาท หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะกระทบกับผลการดำเนินงานของ ปตท.ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ขณะที่คาดว่าธุรกิจน่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4
ขณะเดียวกันกลุ่ม ปตท.ยังมีศักยภาพการลงทุนตามแผนในปีนี้ที่ 1.4 แสนล้านบาท และลงทุน 5 ปี มูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
“ปตท.ได้ทำการประเมินศักยภาพองค์กรโดยการทำ Stress Test เพื่อให้ให้พนักงานทุกคนมีความมั่นใจองค์กร ปตท.ยังมีความเข็งแกร่ง โดยในกรณีที่แย่ที่สุด ในปีนี้ ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท.จะยังเป็นบวก รวมถึงยังมี room ความพร้อมที่จะลงทุนในปีนี้ของทั้งกลุ่ม ปตท.ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท และมีศักยภาพที่จะลงทุนต่อเนื่องไปอีก 5 ปีในธุรกิจใหม่ๆ อีกประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท อีกทั้งสถาบันเครดิตทางการเงินได้เข้ามาประเมินแล้วให้เครดิต เรทติ้ง กลุ่ม ปตท.ที่ BBB+ ซึ่งถือว่ายังอยู่ใน Investment Grade” นายอรรถพล กล่าวผ่านวีดีโอคอนเฟอร์แรนท์กับฝ่ายบริหารและพนักงาน ปตท.
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปีนี้ น่าจะติดลบ 5.3% ซึ่งถือเป็นความความโชคดีที่ไทยมีระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นมืออาชีพ ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดไว้
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำกับพนักงานของ ปตท.ว่าถึงแม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง แต่พนักงาน ปตท.ทุกคน ยังต้องเคร่งครัดกับการดูแลตัวเองตามมาตรการรัฐ ในเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย ดูแลเรื่องความสะอาด เพื่อเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโควิด-19 เกิดการระบาดซ้ำ
โดยในส่วนของการปรับตัวรองรับสถานการณ์และลดผลกระทบของ ปตท.นั้นได้ มีการจัดตั้ง PTT Group Vital Center ขึ้นมา เพื่อที่จะดูแลและบริหารจัดการในช่วงนี้ รวมทั้งการวางแผนไปข้างหน้า โดยการบริหารจัดการจะดำเนินการตาม 4 R ประกอบด้วย
Resillience การสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร โดยจัดทำ Stress test ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญโครงการลงทุนของปตท. จัดทำ Group optimization ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้ง Value Chain และการรักษาสภาพคล่องขององค์กร
Restart เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจนำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด รักษาความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มปตท.ไว้ให้ได้
Re-imagination การเตรียมความพร้อมที่จะออกแบบธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนทางธุรกิจที่จะเป็น Next Normal ทั้งธุรกิจ ต้นน้ำ ปลายน้ำ และ New S Curve
Reform จะต้องมีการปรับเปลี่ยน จัดโครงสร้างองค์กร รูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตพร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดแบบไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ โดยเตรียมที่จะนำแผนของ Re-imagination และ Reform เข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท.เพื่อกำหนดยุทธ์ศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม (Strategic Thinking Session:STS) ต่อไป
ทั้งนี้ นายอรรถพล กล่าวว่า มีแนวคิดที่เรียกว่า Powering Thailand’s Transformation หรือ PTT โดยมีความมุ่งหวังที่จะทำให้กลุ่ม ปตท.เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทยที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทย
อนึ่ง นายอรรถพล อายุ 54 ปี เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คนที่ 10 ของ ปตท.ในวันนี้แทนนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่เกษียณอายุเมื่อวานนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ค. 63)
Tags: PTT, ปตท., ผู้ประกอบการ, หุ้นไทย, อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์