ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยอดสะสม 3,017 คน (+2)
  • รักษาหายแล้ว 2,798 คน (+2)
  • ยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 163 คน
  • เสียชีวิตสะสม 56 คน (-)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 3,017 ราย ขณะที่มีผู้ที่หายป่วยเพิ่มขึ้น 2 ราย ทำให้มีจำนวนผู้รักษาหายแล้วรวมทั้งสิ้น 2,798 ราย โดยวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 56 ราย

สำหรับผู้ป่วยใหม่ 2 รายวันนี้ เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า โดยรายแรก เป็นหญิงไทย อายุ 19 ปี อยู่ในกทม. มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยในครอบครัว (พี่เขย พี่สาว และหลานสาว) เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ ถ่ายเหลว ในวันที่ 5 พ.ค., อีก 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 51 ปี ในจ.นราธิวาส มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน โดยเป็นพี่เลี้ยงเด็กอายุ 6 ปีเมื่อวานนี้

“ตัวเลข 2 รายในวันนี้ต่ำมากๆ อย่างไรก็ตามแต่ยังไม่เป็น 0 ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ถ้าจะเป็น 0 ต้องใช้ความร่วมมือจากประชาชนทุกท่าน เหมือนอย่างที่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มจังหวัดทั้งหลาย เช่น นครศรีธรรมราช พังงา สตูลที่อยู่ใน State Quarantines ก็ไม่เจอเลย ทำให้เลื่อนลำดับลงมาอยู่ใน 50 จังหวัดกลุ่มที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันที่ผ่านมา และทำให้กลุ่มจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันที่ผ่านมาเหลืออยู่ 18 จังหวัด ขณะที่ 9 จังหวัดไม่มีมีรายงานผู้ป่วยมาตั้งแต่แรก”

สำหรับผู้ป่วยสะสม 3,017 ราย พบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนนทบุรี จำนวน 1,703 ราย ภาคเหนือ 94 ราย ภาคกลาง 383 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคใต้ 726 ราย โดยผู้ป่วยอายุน้อยสุดคือ 1 เดือน อายุมากสุดคือ 97 ปี โดยเฉลี่ยคืออายุ 39 ปี พบผู้ป่วยมากในอายุ 20-29 ปี

ด้านจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม จำแนกตามปัจจัยเสี่ยง พบว่า อันดับ 1.สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 1,182 ราย 2. อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด 284 ราย 3.สนามมวย 276 ราย 4.คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 270 ราย 5.สถานบันเทิง 226 ราย 6.คนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 125 ราย 7.ไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 8.พิธีกรรมทางศาสนา 9.บุคลากรด้านการแพทย์สาธารณสุข 10.ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันของรัฐ (State Quarantines) 90 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ตอนนี้เราตรวจตัวอย่างไปแล้ว 286,008 ตัวอย่าง ซึ่ง ณ วันที่ 8 พ.ค. ตอนนั้นมีติดเชื้อ 3,000 ราย เท่ากับอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 1.05% จำนวนที่ตรวจถามว่าน้อยหรือไม่ หากเอามาเรียงกันตรวจมากที่สุดวันนั้นคือ อิตาลี ตรวจ 41,558 รายต่อ 1 ล้านประชากร, สิงคโปร์ตรวจ 29,763 รายต่อ 1 ล้านประชากร, สหรัฐอเมริกาตรวจ 27,025 รายต่อ 1 ล้านประชากร, สหราชอาณาจักรตรวจ 25,493 รายต่อ 1 ล้านประชากร, เกาหลีใต้ตรวจ 12,941 รายต่อ 1 ล้านประชากร, มาเลเซียตรวจ 7,930 รายต่อ 1 ล้านประชากร

สำหรับไทยตรวจที่ 4,294 รายต่อ 1 ล้านประชากร ถือว่าไม่น้อย มากกว่าไต้หวัน เวียดนาม ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อเทียบอัตราส่วนต่อประชากร

ทั้งนี้ หากจัดอันดับ 10 ประเทศอาเซียนที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดังนี้ อันดับ 1.ประเทศอินเดีย มีผู้ป่วยสะสม 70,768 ราย 2.ประเทศปากีสถาน มีผู้ป่วยสะสม 30,941 ราย 3.ประเทศสิงคโปร์ มีผู้ป่วยสะสม 23,822 ราย 4.ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ป่วยสะสม 15,847 ราย 5.ประเทศบังกลาเทศ มีผู้ป่วยสะสม 15,691 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่อันดับ 10 มีผู้ป่วยสะสม 3,017 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีเกาหลีใต้ ที่มีการกลับมาระบาด รอบ 2 พุ่ง 94 ราย หลังจากพบผู้ป่วยเพียง 1 คนจากสถานบันเทิงนั้นว่า นี่คือตัวอย่างต่างประเทศที่มีมาตรการผ่อนคลายแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีก ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่เรากังวลใจ เพราะฉะนั้นในการจะผ่อนคลายล็อก ทางศบค.มีการประชุม ปรึกษา ระหว่างสาธารณสุขเป็นหลัก ภาคเอกชน

อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม มาร่วมพิจารณาด้วย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ได้ละเลยแต่อย่างใด และ หากมีมาตรการใดๆ ออกมา สิ่งสำคัญ คือ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย เพราะหากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือผลอาจจะออกมาในทางตรงข้ามกัน

“คิดว่าคงไม่มีใครอยากกลับมาเห็นตัวเลขผู้ป่วยรายวันเป็นสองหลัก ดังนั้น ระหว่างการเลือกเปิดกิจการกับตัวเลขติดเชื้อต้องมีความสมดุลกัน ไม่มีการ์ดตก เพราะถ้าไม่สมดุลกันจะมีเรื่องการติดเชื้อตามมา”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ส่วนกรณีในระยะที่ 2 จะคลายล็อกการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ไม่เกิน 5 คนนั้น แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะต้องใช้ทีมงานจำนวนมากนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่เป็นข้อยุติ เป็นเพียงการร่างขึ้นมาทั้งสิ้น หากมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้เสนอผ่านมายังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมร่วมกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top