ส่อง 8 หุ้นธุรกิจศูนย์การค้ารายใหญ่โหนกระแสจ่อคลายล็อกดาวน์เฟส 2 กลาง พ.ค.

ล่วงเลยมาเกินครึ่งทางแล้ว….หลังจากรัฐบาลตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในระยะแรกใน 6 กลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.63 ล่าสุดตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังคงทรงตัวเป็นตัวเลขหลักเดียว เป็นเหตุผลให้รัฐบาลเตรียมพิจารณาผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 2 คาดจะประกาศข้อสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้งในการประชุมใหญ่ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในวันที่ 15 พ.ค.63

ห้างสรรพสินค้าเป็น 1 ในกลุ่มกิจการที่มีโอกาสจะได้รับการผ่อนปรนในระยะ 2 รวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งกลุ่มประกอบด้วย การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร และร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านขนมหวาน/ไอศกรีมในอาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ (ยกเว้นโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส โบว์ลิ่ง ศูนย์ประชุม ศูนย์พระเครื่อง สวนสนุก สวนน้ำ), ร้านค้าปลีก/ค้าส่งอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่จะมีการกำหนดตามมา

โดยห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าส่วนใหญ่ เริ่มทยอยปิดให้บริการตามนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.63 เป็นต้นมา ขณะนี้รวมเป็นระยะเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว ตามมุมมองนักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/63 คาดได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมากทั้งในส่วนผู้ประกอบการให้บริการเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และผู้ประกอบการอีกหลายรายที่เช่าพื้นที่เปิดร้านในพื้นที่ศูนย์การค้า

ทั้งนี้ ตามรายงานข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าในกรณีถ้ารัฐบาลตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พ.ค.63 โดยเฉพาะอนุญาตให้เปิดบริการห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่างๆ ได้อย่างน้อย 60-75% จะช่วยกระตุ้นให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบวันละประมาณ 6-8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นเฉลี่ยเดือนละ 2 แสนล้านบาท จากเดิมที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ส่งผลให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเฉลี่ยประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อเดือน

“อินโฟเควสท์” รวบรวมข้อมูลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ประกอบธุรกิจให้เช่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ประกอบด้วย

**บมจ.เอ็ม บี เค (MBK) ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ,ศูนย์การค้า พาราไดซ์ พาร์ค ,ศูนย์การค้า พาราไดซ์ เพลส ,เดอะไนน์ เซ็นเตอร์

**บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) ได้แก่ ศูนย์การค้าเมกาบางนา ,เอสพละนาด รัชดาภิเษก ,ลา วิลล่า (พหลโยธิน) ,อเวนิว 5 แห่ง ,มาร์เก็ตเพลส 7 แห่ง ,พาวเวอร์ เซ็นเตอร์ 3 แห่ง ฯลฯ

**บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ,บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ,โรบินสัน 48 สาขา ,เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ,เซ็นทรัลพลาซา 24 แห่ง ,เซ็นทรัลเฟสติวัล 5 แห่ง ,เซ็นทรัล ภูเก็ต ,เซ็นทรัล วิลเลจ ฯลฯ

**บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ได้แก่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ,เกทเวย์ ,พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า 3 แห่ง ,ลาซาล อเวนิว ,ตะวันนา บางกะปิ ,โอ.พี. เพลส แบงค๊อก

**บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป (PLAT) ได้แก่ ศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ,เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ,เดอะ นีออน ไนท์ บาซาร์

**บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ได้แก่ ศูนย์การค้า Terminal 21 (อโศก) ,Terminal 21 (พัทยา)

**บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) ได้แก่ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

ด้านผู้ประกอบการศูนย์การค้ารายใหญ่เครือ”เซ็นทรัล”ระบุถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวอย่างของห้างฯอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CPN ระบุว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในไทยเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ บริษัทเตรียมความพร้อมของศูนย์การค้าในส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตามประกาศของภาครัฐไว้ล่วงหน้าโดยได้ประกาศใช้แผนแม่บท “เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ”

ประกอบด้วย 5 แกนหลักรวมกว่า 75 มาตรการ ได้แก่ (1) การคัดกรองอย่างเข้มงวด ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิ ทั้งพนักงานของศูนย์ และร้านค้า พนักงาน delivery และลูกค้าทุกคน , (2) มาตรฐาน Social Distancing กำหนดระยะห่างทุกจุด, (3) การติดตามเพื่อความปลอดภัย ด้วยการ Tracking ข้อมูลสุขภาพ และการเดินทางของพนักงานในศูนย์และร้านค้า, (4) การใส่ใจในความสะอาดทุกจุดสัมผัส เช็ดทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสทุก 30 นาที และฆ่าเชื้อหลังปิดศูนย์ฯ พร้อมทำ Big Cleaning ทุกสัปดาห์ (5) แนวทางลดการสัมผัส (Touchless) โดยจัดพนักงานเปิด-ปิดประตูศูนย์การค้า และกดลิฟท์ให้ลูกค้าเพื่อลดการสัมผัส เพื่อความปลอดภัยของทุกคน และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

สำหรับ “เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์” ยังเปิดให้บริการตามเวลาที่กำหนดในแต่ละสาขา รวมถึงร้านอาหารแบบดิลิเวอรี่และซื้อกลับบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการซื้อสินค้าที่จำเป็น

นอกจากนี้หลังจากการเปิดให้บริการศูนย์การค้าแล้ว บริษัทพร้อมพิจารณามาตรการลดภาระค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือร้านค้าตามความเหมาะสมของผู้เช่าแต่ละราย และจะแจ้งให้ทราบต่อไป บริษัทพร้อมและยินดีให้ความช่วยเหลือพันธมิตรร้านค้าอย่างเต็มที่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top