โบรกเกอร์ แนะ”ซื้อ”หุ้น บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) จากค่าการกลั่น (GRM) จะปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่เพิ่มขึ้น หลังทยอยปลดล็อกดาวน์ โดยเชื่อว่า SPRC เป็นหนึ่งในผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเพิ่มอุปสงค์น้ำมันดังกล่าว รวมถึงจากการเป็นโรงกลั่นที่มีผลการผลิตน้ำมันเบนซินค่อนข้างสูง และมีโอกาสในการปรับเพิ่มปริมาณการกลั่นมากที่สุด
ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 คาดว่ากำไรจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 จากการขาดทุนสต็อกน้ำมันที่ลดลง และค่าการกลั่นตลาด (market GRM) ปรับตัวดีขึ้น ส่วนอัตราการใช้กำลังกลั่นคาดจะลดลงจากขีดกำลังการกลั่นสูงสุดที่ 175,000 บาร์เรล/วัน เหลือ 140,000 บาร์เรล/วัน เป็นผลมาจากผลกระทบไวรัสโควิด-19
ช่วงบ่ายราคาหุ้น SPRC อยู่ที่ 6.40 บาท ปรับขึ้น 0.30 บาท หรือ 4.92% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 2.01%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
กรุงศรี | ซื้อ | 8.00 |
กสิกรไทย | ซื้อ | 7.10 |
ไอร่า | ทยอยซื้อ | 6.85 |
เอเชีย เวลท์ | ซื้อ | 9.00 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 7.00 |
นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น SPRC จากค่าการกลั่นเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะแรก และสายการบินในประเทศทยอยกลับมาเปิดดำเนินการ ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ขณะเดียวกันก็คาดว่าในไตรมาส 2/63 การขาดทุนสต็อกน้ำมันจะลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดทุนสต็อกค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม เอเชีย เวลท์ ปรับราคาเป้าหมายหุ้น SPRC ลงมาเป็น 9.00 บาท/หุ้น จากเดิมที่ 10.85 บาท/หุ้น เนื่องจากผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/63 จากการขาดทุนสต็อกจำนวนมาก
นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ชะลอลง ทำให้คาดว่าการทยอยปลดล็อกดาวน์จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์การใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่องบินให้สูงขึ้นได้ โดยเชื่อว่า SPRC เป็นหนึ่งในผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเพิ่มอุปสงค์น้ำมันดังกล่าว สืบเนื่องจากการเป็นโรงกลั่นที่มีผลผลิตน้ำมันเบนซินค่อนข้างสูงจากเทคโนโลยี FCC และมีโอกาสในการปรับเพิ่มปริมาณการกลั่นมากที่สุด
ทั้งนี้ การปรับลดการกลั่น และค่าพรีเมี่ยมที่ลดลงจะกระตุ้นค่าการกลั่น (GRM) ฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากโควิด-19 ได้ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้อัตราการดำเนินงานของกลุ่มโรงกลั่นเอเชียจึงค่อยๆ ปรับลดลง 10-50% เพื่อสร้างสมดุลในตลาดภูมิภาค ซึ่งจะเห็นเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค.63 จากการปิดซ่อมบำรุงจำนวนมาก ส่งทำให้ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคจะตึงตัวขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่มีอุปสงค์น้ำมันเพิ่มขึ้น อีกทั้งซาอุดีอาระเบียก็ได้ปรับลดค่าพรีเมี่ยมน้ำมันดิบสำหรับเดือนพ.ค.63 ลง 4.2 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล จึงคาดว่าค่าการกลั่นจะปรับตัวดีขึ้น
“เราได้ปรับคำแนะนำจากเดิม ถือ เป็น ซื้อ เพราะคาดว่าค่าการกลั่น ได้แตะจุดต่ำสุดไปแล้ว และน่าจะปรับตัวดีขึ้นพร้อมกับการฟื้นตัวของอัตราการกลั่นของ SPRC และเราเชื่อว่า SPRC จะเป็นหนึ่งในผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการทยอยปลดล็อกดาวน์ในประเทศ ขณะเดียวกัน SPRC ก็มีมูลค่าการซื้อขายที่เทียบเคียงกับโรงกลั่นอื่นในประเทศ”
นายจักรพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 คาดว่ากำไรสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 จากการขาดทุนสต็อกน้ำมันลดลงและค่าการกลั่นตลาด (market GRM) ที่ปรับตัวดีขึ้นมาราว 5 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล แต่คาดอัตราการกลั่นจะลดลงเป็น 140,000 บาร์เรล/วัน จากขีดกำลังการกลั่นสูงสุดที่ 175,000 บาร์เรล/วัน เป็นผลมาจากประเด็นไวรัสโควิด-19
พร้อมกันนี้มองสถานะทางการเงินยังดีอยู่ เนื่องจาก SPRC มีสถานะเงินสดสุทธิ และตั้งงบลงทุนไว้ค่อนข้างต่ำในระดับ 20-30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เชื่อว่า SPRC จะผ่านพ้นสถานะที่ไม่เป็นใจกับอุตสาหกรรมโรงกลั่นในขณะนี้ไปได้ แม้คาดว่าในไตรมาส 1/63 จะมีผลขาดทุนสุทธิ อาจจะกดดันกำไรสะสมของ SPRC และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการจ่ายเงินปันผลในระยะสั้น
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า SPRC จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และคาดค่าการกลั่น GRM จะฟื้นตัวดีขึ้น ในกรณีที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่กลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้ความต้องการใช้น้ำมันค่อยๆ ฟื้นตัว
ขณะที่คาดผลประกอบการในไตรมาส 1/63 จะออกมาขาดทุนสุทธิราว 8.3 พันล้านบาท โดยมีปัจจัยกดดันมาจากการขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงคลัง (Stock Loss) และค่าการกลั่นที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 โดยคาดว่าจะมีการรายงานขาดทุนสต็อกที่ 7.5 พันล้านบาท (รวมการขาดทุนจาก NRV 3.8 พันล้านบาท) และการขาดทุนจากการดำเนินงาน 830 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 63)
Tags: Consensus, SPRC, จักรพงศ์ เชวงศรี, ธุรกิจพลังงาน, สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง, เบญจพล สุทธิ์วนิช