บมจ.ปตท. (PTT) เตรียมแผนรับมือจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างจนส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับสงครามราคาน้ำมันที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีความผันผวนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของกลุ่มปตท.ในปีนี้ โดยทั้งกลุ่มปตท.ตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 63 ที่ระดับ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และค่าการกลั่นจะลดลงจากปีที่แล้ว พร้อมทั้งปรับตัวบริหารสภาพคล่อง ตามมาตรการ “ลด-ละ-เลื่อน” โดยคาดว่าทั้งกลุ่ม ปตท.จะลดงบลงทุนในปีนี้ได้ราว 10-15%
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท หลังมีผลขาดทุนสต็อกจากราคาน้ำมันดิบสิ้นไตรมาสร่วงแรงกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี ขณะที่ธุรกิจก๊าซฯมีผลการดำเนินงานลดลงจากราคาและปริมาณขายที่ลดลง ธุรกิจน้ำมันมีผลขาดทุนสต็อกและปริมาณขายที่ลดลง
PTT ระบุว่าผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน สำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คาดว่าปริมาณขายเฉลี่ยในปีนี้จะต่ำกว่าแผนที่ตั้งไว้ประมาณ 7% จากปริมาณขายที่ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ในภาคไฟฟ้าและปิโตรเคมี
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คาดว่าความต้องการใช้ในปีนี้จะลดลง 5-10% จากปีก่อน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ขณะที่ธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ผ่านบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG) จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากปริมาณขายและอัตราค่าบริการถูกกำหนดไว้ตามประกาศที่อนุมัติโดยภาครัฐ
ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมถึงการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นในประเทศ และปริมาณความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณขายของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะปริมาณการน้าเข้า (Out-In) และปริมาณการค้านอกประเทศ (Out – Out) ซึ่งจากการประมาณการคาดว่าปริมาณขายในปี 63 จะลดลงจากปี 62 ประมาณ 3-5% ขณะที่กำไรขั้นต้น อาจจะลดลงตามปริมาณขายที่ลดลง เนื่องจากตลาดอยู่ในสภาวะอุปทานล้นตลาด
ธุรกิจน้ำมัน ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศที่ลดลงส่งผลต่อปริมาณการจำหน่ายของทั้งธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจะแปรผันตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง GDP ของไทยได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ามันสำเร็จรูปทั้งน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน
ธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือน้ำมันอากาศยาน จากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ให้หยุดการดำเนินงานของสายการบินต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นของกลุ่ม ปตท. ได้ปรับเปลี่ยนแผนการผลิต โดยลดปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยานลง และหันไปผลิตน้ำมันดีเซลแทน เนื่องจากปริมาณความต้องการในตลาดยังไม่ลดลงมากนัก ทำให้กลุ่ม ปตท. คาดการณ์อัตรากำลังการผลิต (Utilization Rate) ของโรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. ในปี 63 อยู่ที่ 90-100%
ธุรกิจไฟฟ้า กระทรวงพลังงานคาดการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 63 จะลดลง 0.7% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2-3% ซึ่งธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ที่จำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ในขณะที่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IUs) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ ปตท.ได้ดำเนินการในการบริหารจัดการและออกมาตรการต่าง ๆ โดยการจัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อวางแผนและบริหารจัดการภาพรวมการรับมือช่วงสถานการณ์วิกฤติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดำเนินการตามแนวทาง 4R’s ได้แก Resilience การปรับตัว สร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กรให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง , Restart เตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด และรักษาความสามารถในการแข่งขัน , Re-imagination จัดเตรียมรูปแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็น Next normal และ Reform จัดโครงสร้างองค์กรและธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต และพร้อมรองรับทุกสภาวการณ์ที่ไม่คาดคิด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ
สำหรับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการ “ลด-ละ-เลื่อน” ได้แก่ “ลด” ค่าใช้จ่ายและการจ้างงานบุคคลภายนอกโดยเน้นดำเนินงานด้วยตนเองให้มากที่สุด “ละ” การเดินทางและกิจกรรมที่ไม่จำเป็น “เลื่อน” การลงทุนที่ไม่เร่งรัดโดยการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน โดยคาดว่าทั้งกลุ่มปตท.จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และทบทวนปรับลดแผนการลงทุน (CAPEX) ในปี 63 ได้ประมาณ 10-15% อย่างไรก็ตามโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โครงการท่อก๊าซฯเส้นที่ 5 ของ ปตท. และโครงการพลังงานสะอาด ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) ยังคงด้าเนินการตามแผนลงทุนเดิม ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ยังเน้นย้ำการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มี การใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง (Cost Conscious)
การบริหารสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งด้านการเงิน ของกลุ่มปตท. ได้จัดหาสภาพคล่องจากวงเงินกู้ธนาคาร หรือการกู้ยืมระหว่างกันในกลุ่ม ปตท. การจัดเตรียมหาแหล่งเงิน (Prefunding) ตามสภาพตลาดที่เหมาะสม รวมถึงทบทวนการนำเงินไปลงทุนระยะสั้น โดยเน้นการลงทุนในเครื่องมือที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง บริหารความเสี่ยงลูกหนี้ และเจ้าหนี้การค้าเพื่อรักษาสภาพคล่อง และมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสม รวมถึงบริหารภาษีจากมาตรการช่วยเหลือทางภาษีต่าง ๆ ตามประกาศของภาครัฐ
นอกจากนี้กลุ่ม ปตท.มีความร่วมมือในการทำ PTT group value chain optimization เพื่อการบริหาร อุปสงค์ อุปทาน ปริมาณสินค้าคงคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจมีมาตรการและแผนการบรรเทาผลกระทบ (mitigation plan) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและความแข็งแกร่งของกลุ่ม ปตท. ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น
ธุรกิจสำรวจและผลิตฯ ได้ทำสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อบริหารความผันผวนของราคาน้ำมันดิบและปัจจัยที่มีผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/63 มีปริมาณน้ำมันภายใต้สัญญาความเสี่ยงที่ยังไม่ครบกำหนดประมาณ 10 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงดังกล่าวสามารถปรับแผนการประกันความเสี่ยงได้ตามความเหมาะสม
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ การจัดหาก๊าซฯจะดำเนินการภายใต้สัญญาและเงื่อนไขการซื้อตามปริมาณขั้นต่ำที่มีอยู่เดิมให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด วางแผนการจัดหา spot LNG ที่มีคุณภาพเหมาะสมและราคาอยู่ในระดับต่ำเพื่อลดต้นทุนก๊าซฯ และเพื่อช่วยลดค่าครองชีพในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 รวมทั้งวางแผนการเดินเครื่องโรงแยกก๊าซฯ แบบ Optimum mode กล่าวคือผลิตในปริมาณตามความต้องการเชื้อเพลิงของลูกค้าในประเทศและลูกค้าปิโตรเคมี เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของ ปตท. และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด
ธุรกิจน้ำมัน มีมาตรการบริหารสินค้าคงเหลือ โดยลดสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เพียงพอและเหมาะสม ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น มีมาตรการด้านการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง โดยทุกบริษัทพยายามปรับลดปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่วนด้านการผลิตจะปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่มีความผันผวนสูง เพื่อไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ
กลุ่ม ปตท. เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด และสามารถปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งวางแผนปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ เพื่อให้ กลุ่ม ปตท. มีความพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากการประเมินฐานะการเงิน แม้เป็นกรณี Stress case ปตท. และกลุ่ม ปตท. ยังคงสามารถลงทุนตามแผนการลงทุน (committed capital expenditure) 5 ปีตามมาตรการ ลด ละ เลื่อน และสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ น่าลงทุน (investment grade) และหรือสูงกว่า ทั้งนี้ ปตท. สามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ BBB+ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศ โดยยังมีสภาพคล่องที่สูงและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
PTT ระบุอีกว่าสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ปตท.คาดว่าราคาน้ำมันดิบปี 63 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ในปี 63 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.0-3.5 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากปี 62 จากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์และกลุ่มอะโรเมติกส์ ในไตรมาส 2/63 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 จากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ขณะที่อุปทานยังคงล้นตลาดและหลายผลิตภัณฑ์ยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังในระดับที่สูง ส่วนทั้งปี 63 คาดว่าราคามีแนวโน้มลดลงจากปี 62 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจและการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภค เช่น รถยนต์ เคร่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เป็นต้น นอกจากนี้ปริมาณสินค้าคงคลังที่มีแนวโน้มจะกดดันราคาต่อไปอีกระยะหนึ่ง รวมถึงอุปทานที่ยังคงล้นตลาดจากกำลังการผลิตใหม่
สำหรับผลการดำเนินงานของ PTT ในไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ลดลงจากกำไรสุทธิ 29,312 ล้านบาทในไตรมาส 1/62 และกำไรสุทธิ 17,446 ล้านบาทใน/ตรมาส 4/62 โดยมียอดขาย 483,567 ล้านบาท ลดลง 12.2% จากงวดปีก่อน และลดลง 13.7% จากไตรมาสก่อน
ขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1/63 ที่ 32,385 ล้านบาท ลดลง 59.8% จากไตรมาส 1/62 สาเหตุหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีขาดทุนจากสต็อกน้ำมันในไตรมาส 1/63 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมากในสิ้นไตรมาสมาอยู่ที่ 23.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 67.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นไตรมาส 4/62
กำไรขั้นต้นจาการกลั่นซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน (Market GRM) ปรับลดลงตามส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูงกับน้ำมันดิบที่ลดลง อีกทั้งส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซฯมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายและปริมาณขายที่ลดลง และธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายอ้างอิงราคาน้ำมันเตาที่ลดลง สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันมีผลการดำเนินงานลดลงจากขาดทุนสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของกลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ของบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในเดือนมี.ค.62 ในขณะเดียวกันธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากรายได้ขายที่เพิ่มขึ้น โดยหลักจากโครงการมาเลเซียและกลุ่มพาร์เท็กซ์ (Partex)
ขณะที่ในไตรมาส 1/63 มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้สกุลต่างประเทศและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่ามีกำไรจากตราสารอนุพันธ์จะเพิ่มขึ้นก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 63)
Tags: PTT, ก๊าซธรรมชาติ, น้ำมัน, ปตท., ปิโตรเคมี, ลงทุน, สงครามราคาน้ำมัน, หุ้นพลังงาน, ไฟฟ้า