นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.19 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.25 บาท/ดอลลาร์
“เมื่อคืนวันศุกร์ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐออกมาแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ แต่ก็ยังแย่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง” นักบริหารเงิน กล่าว
สำหรับทิศทางวันนี้ต้องติดตามความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และการทยอยปลดล็อกดาวน์ของทั่วโลก เบื้องต้นประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ระหว่าง 32.15-32.30 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (8 พ.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.55504% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.75635%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 106.95 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 106.35 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0843 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 1.0841 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.2800 บาท/ดอลลาร์
- ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงความกังวลว่าสหรัฐฯ และจีนอาจกลับมามีความขัดแย้งทางการค้ากันอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่า สหรัฐฯ อาจยกเลิกข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกกับจีนหากจีนไม่ทำตามข้อตกลงการซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 2 ปี (วันที่ 1 ม.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2564)
- ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลหลังการกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้วในปี 2564 จะพุ่งขึ้นไปในระดับ 57% ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบวินัยการเงิน การคลัง ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ และรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินกู้เพิ่มเติม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแล้วว่าให้กระทรวงการคลังสามารถขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะให้สูงกว่าปัจจุบันได้
- หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหลังจากเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเกิดจากช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ แต่ได้ส่งผลดีต่อภาคครัวเรือนระยะสั้น เพราะจะทำให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าและอาหารในราคาถูกลง และได้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น มีเงิน 100 บาท ซื้อของได้มากกว่าเดิม เป็นการลดภาระครัวเรือนได้ แต่มองว่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น หากเกิดภาวะเงินฝืดต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจได้
- ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมนำโครงการฟื้นฟูผลกระทบภัยแล้งและโควิด-19 วงเงินประมาณ 4.5-5 หมื่นล้านบาท เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา ก่อนส่งเรื่องถึงคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
- คณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เร่งสรุปแนวคิดเบื้องต้น เตรียมเสนอ “สมคิด” เปิดทางอิควิตี้ฟันด์ ซื้อหุ้นโรงแรมไทย ที่เป็นขนาดเอสเอ็มอี หลังพบสัญญาณเจ้าของคนไทยเริ่มไปต่อไม่ไหวเตรียมขายกิจการทิ้ง หวั่นต่างชาติสบช่องกดราคาต่ำ ใช้นอมินีกว้านซื้อแหล่งทำเลงาม
- กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ตัวเลขการจ้างงานในเดือนเม.ย.ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 21.5 ล้านตำแหน่ง
- นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศแผนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยจะการเริ่มเปิดสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในระหว่างการแถลงทั่วประเทศซึ่งมีขึ้นในช่วงเย็นวันอาทิตย์ตามเวลากรุงลอนดอน
- ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ทางธนาคารกลางจีนจะเดินหน้าปรับปัจจัยที่ตรงข้ามกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (counter-cyclical) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริงและขจัดความเสี่ยงต่าง ๆ
- สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะรัฐมนตรีจีนได้เผยแพร่แนวปฏิบัติเมื่อวันศุกร์ (8 พ.ค.) ระบุว่า จีนเตรียมพร้อมที่จะเปิดสถานที่สาธารณะและสถานบันเทิง เพื่อให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายใต้การดำเนินงานตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ สัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออก ยอดค้าปลีกผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 63)
Tags: Currency Exchange, Forex, ค่าเงินบาท, เงินบาท