นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลออกประกาศเรื่องให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น มีความเข้าใจเจตนาดีของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในการรักษาความสงบเรียบร้อยในระบบแรงงานสัมพันธ์ ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ระบบแรงงานสัมพันธ์ของไทยยังไม่ได้มาตรฐานแบบยุโรป หรือญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้
การออกประกาศดังกล่าวจะเป็นลดอำนาจต่อรองของลูกจ้างและองค์กรลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน จะทำให้การเลิกจ้างทำได้ง่ายขึ้นและขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น มาตรฐานความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอาจต่ำลงจากความพยายามดิ้นรนในการลดต้นทุน
ทั้งนี้ ตนเคยเสนอให้เพิ่มความหนืดในการเลิกจ้าง โดยกระทรวงแรงงานควรแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้เพิ่มค่าชดเชยในทุกช่วงอายุงาน สำหรับกรณีถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอีก 2 เดือน เช่น อัตราที่ 1 ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน เปลี่ยนเป็น 90 วัน อัตราที่ 2 ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน เปลี่ยนเป็น 150 วัน จนถึง อัตราที่ 6 ทำงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 460 วัน การดำเนินการดังกล่าวจะเพิ่มความหนืดหรือต้นทุนให้กับการตัดสินใจเลิกจ้าง ทำให้สถานประกอบการตัดสินใจเลิกจ้างลดลง หากกิจการใดเพิ่มการจ้างงานโดยที่กิจการยังคงขาดทุนอยู่ เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมทั้งหมดสำหรับการจ้างงานใหม่ในส่วนเงินสมทบของนายจ้างแทนเป็นเวลา 1 ปี
รัฐบาลไม่ควรห้ามการนัดหยุดงานและปิดงานตามประกาศคำสั่งล่าสุด เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ พอเกิดวิกฤติแล้วจะสั่งไม่ได้ และคำสั่งแบบนี้อาจทำให้ตลาดแรงงานขาดกลไกในการปรับตัวตามสภาวะ ความมีเสถียรภาพและความมั่นคงเกิดจากการสร้างความเป็นธรรมในกระบวนการเจรจาต่อรอง ไม่ได้เกิดจากการใช้คำสั่ง และในที่สุดก็จะเป็นการซุกปัญหาไว้รอวันปะทุซึ่งจะรุนแรงกว่าการปล่อยให้มีช่องทางของการระบายแรงกดดันในตลาดแรงงานและวิกฤติเลิกจ้างปิดงาน
รัฐบาลควรไปศึกษาเพื่อแก้ไข พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้เป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในเนื้อหาที่ขัดกับหลักการเรื่องการจัดตั้งองค์กรของลูกจ้างและนายจ้างโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และยังมีเนื้อหาในการให้อำนาจรัฐในการแทรกแซงการทำงานขององค์กรแรงงาน รัฐบาลควร รับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ ฉบับ 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับลูกจ้างและทำให้ระบบแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการมีความเป็นธรรมมากขึ้น และเป็นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตยในสถานประกอบการและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้รัฐบาลควรปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ให้เชื่อมโยงกันทั้งในระดับสถานประกอบการ ระดับอุตสาหกรรมและระดับชาติ การปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ให้ดีขึ้นจะช่วยทำให้การจัดการกับข้อพิพาทแรงงานและความขัดแย้งด้านแรงงานอย่างเป็นระบบและมีความเป็นสถาบัน จะทำให้เกิดสันติธรรมในระบบเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด
“การป้องปรามไม่ให้เกิดข้อพิพาท ไม่ใช่การออกคำสั่งห้ามไม่ให้ลูกจ้างหยุดงาน หรือ คำสั่งห้ามไม่ให้นายจ้างปิดงาน เพราะในที่สุดแล้ว เมื่อเกิดวิกฤติเลิกจ้างมันจะห้ามไม่ได้ แต่ต้องสร้างความเป็นธรรมในระบบแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเป็นเนื้อเดียวกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การสร้างอำนาจต่อรองอันสมดุลในตลาดแรงงานจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างแท้จริง”
นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะ 2 ปีข้างหน้านับจากนี้ คือ สถานการณ์การทยอยเลิกจ้างแรงงานโดยกลุ่มแรงงานอิสระ แรงงานรายวันและกลุ่มแรงงานในบริษัทเหมาช่วง แรงงานในภาคท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด หากกิจการหรือบริษัทเหมาช่วงใดไม่อยู่ในภาวะที่สามารถจ่ายค่าชดเชยให้แรงงานได้เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย บริษัทต้นทาง (นายจ้างชั้นต้น) ต้องร่วมจ่ายชดเชยให้แรงงาน กฎหมายกำหนดให้นายจ้างชั้นต้นเป็นลูกหนี้ร่วมกับบริษัทรับเหมาช่วงกรณีหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างแรงงานเหมาช่วง ขณะนี้มีบริษัทเหมาช่วงจำนวนมากไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างได้จากภาวะล้มละลายและบริษัทต้นทาง (นายจ้างชั้นต้น บริษัทที่จ้างบริษัทเหมาช่วงอีกทอด) จำนวนหนึ่งบ่ายเบี่ยงที่จะจ่ายค่าชดเชยอันเป็นภาระผูกพันตามกฎหมายเนื่องจากประสบปัญหาทางการเงิน
ส่วนกรณีความเห็นต่างทางนโยบายเรื่องการเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานระหว่างบอร์ดประกันสังคม รัฐมนตรีกระทรวงแรงงงาน รวมทั้งการผสมโรงของสมาชิกพรรคฝ่ายค้านบางรายนั้น ตนเห็นด้วยกับมติของบอร์ดประกันสังคมเนื่องจากเป็นระบบไตรภาคีและมีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว การกำหนดนโยบายหรือมาตรการใด ๆ ต้องยึดหลักการ อย่าหวั่นไหวต่อแรงกระเพื่อมใด ๆ ทั้งจากรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หากจ่าย 75% (ตามรัฐมนตรีแรงงาน) หรือ จ่ายมากกว่า 75% (ตามข้อเสนอของสมาชิกฝ่ายค้านบางราย) แก่ผู้ประกันตนประมาณ 9.9 แสนล้านคนเศษที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แทนที่จะเป็น 50% ของเงินเดือนไม่เกินเพดาน 15,000 บาทนั้น จะทำให้กองทุนประกันสังคมประสบปัญหาความยั่งยืนทางการเงินในระยะต่อไปและยังไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนอีก 16 ล้านกว่าคน
หากรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานต้องการจ่าย 75% ก็เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับผู้ประกันตนที่ว่างงานในช่วงนี้ แต่รัฐบาลต้องไปจัดสรรเงินมาจ่ายเพิ่มเติมให้กองทุนประกันสังคม แต่การจ่ายที่ระดับดังกล่าวก็อาจไม่เป็นธรรมกับแรงงานนอกระบบประกันสังคมอีกซึ่งได้รับเงินโอนช่วยเหลือน้อยกว่า
ส่วนเรื่องการยืดและลดการจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างเป็นการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องยึดมติของบอร์ดประกันสังคมเพราะเป็นระบบไตรภาคี รัฐบาลจะไปกำหนดเอาเองว่าจะยืดไปถึงสิ้นปี หรือลดการจ่ายสมทบเท่าไหร่ก็ได้ไม่ได้ การตัดสินใจใด ๆ ต้องยึดระบบไตรภาคีและต้องเป็นไปตามหลักการการมีส่วนร่วม หลักวิชาการทางด้านประกันสังคมและหลักการคำนวณคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อระบบประกันสังคมในระยะยาว
สำหรับเรื่องการเสนอเพิ่มการจ่ายทดแทน 62% ให้ลูกจ้างกรณีหยุดกิจการชั่วคราว (ลูกจ้างว่างงานชั่วคราวแต่ยังไม่ได้เลิกจ้าง) นั้น ตนมองว่า กรณีลูกจ้างเจอกับภาวะการหยุดกิจการชั่วคราวกรณียังไม่ใช่เลิกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้าง 75% ของค่าจ้างเดือนสุดท้ายในระหว่างหยุดกิจการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอยู่แล้ว ไม่ควรมาใช้เงินของกองทุนประกันการว่างงานซึ่งจะเป็นเอาประโยชน์จากนายจ้างและลูกจ้างรายอื่น ๆ อย่างไม่เป็นธรรม ยกเว้นการหยุดกิจการชั่วคราวนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยอันเป็นผลมาจากการคำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐ ไม่ใช่ตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวไปเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 63)
Tags: นายจ้าง, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ราชกิจจานุเบกษา, ลูกจ้าง, หยุดกิจการ, หยุดงาน, อนุสรณ์ ธรรมใจ, แรงงาน