บรรดาผู้จัดการกองทุนและนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าร่วมในสัมมนา Reuters Global Markets Forum ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า แทบไม่มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ แม้ตลาดการเงินต่างๆ ได้เริ่มปรับตัวรับการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกแล้วก็ตาม
สัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งบ่งชี้ถึงการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอนาคตนั้น ขณะนี้ได้ปรับตัวรับภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะติดลบเล็กน้อยซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.ปีนี้
ทั้งนี้ บรรดาเทรดเดอร์ได้เริ่มปรับตัวรับแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (federal funds rate) ของเฟดจะเริ่มติดลบในเดือนธ.ค.ปีนี้ และจะติดลบต่อไปจนถึงอย่างน้อยเดือน ม.ค. 2565 ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจำเป็นจะต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ราวระดับ 0%
ภายใต้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบนั้น สถาบันการเงินต่างๆ ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการฝากเงินส่วนเกินไว้กับธนาคารกลาง ซึ่งเท่ากับเป็นการลงโทษสถาบันการเงินที่ถือเงินสดไว้ โดยหวังที่จะกระตุ้นให้ธนาคารต่างๆ เพิ่มการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจและผู้บริโภค
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือน มิ.ย. 2557 โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงสู่ระดับ -0.1% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนม.ค. 2559 ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้การแข็งค่าของเงินเยนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก
นายเดวิด เคลลี หัวหน้านักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน แอสเซท แมเนจเมนต์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยติดลบไม่ได้ช่วยหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจยุโรปแต่อย่างใด โดยทั้งญี่ปุ่นและยุโรปยังคงเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ แม้มีการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบก็ตาม ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อระบบธนาคาร และทำให้การดำเนินงานยุ่งยากมากขึ้นด้วย
นายเคลลีกล่าวด้วยว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐยังคงสามารถขยายและใช้เงินงบประมาณด้านการคลังได้อย่างไม่จำกัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 63)
Tags: BOJ, ECB, Fed, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางสหรัฐ, อัตราดอกเบี้ย, เดวิด เคลลี, เฟด