จับตาตลาดหุ้นฟื้นเร็วเกินคาด-มองอนาคตเศรษฐกิจโลกขึ้นกับวัคซีน
นายคณิศร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อธุรกิจในกลุ่ม Real Sector ค่อนข้างมาก ทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างตั้งแต่ภาคธุรกิจไปจนถึงภาคประชาชน ซึ่งแตกต่างจากวิกฤติซัพไพร์ม ค.ศ.2008 ที่กระทบตลาดการเงินและตลาดหุ้นอย่างมาก แต่ Real Sector ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบมาจากมาตรการหยุดการเคลื่อนไหว โดยการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมต่างๆ กิจกรรมการค้าขายและเศรษฐกิจหยุดชะงัก ซึ่งเกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก และเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาเศรษฐกิจโลกอยู่มาก โดยรายได้จากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจไทย คาดว่าปีนี้จะเกิดแรงกดดันให้เศรษฐกิจหดตัวสูงถึง 5.3%
แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/63 ภาพรวมของงบการเงินในช่วงไตรมาสแรกบางบริษัทยังไม่สะท้อนออกมามากนัก แต่มองว่าในช่วงไตรมาส 2/63 มีโอกาสที่จะเริ่มเห็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ขายสินค้าประเภท เสื้อผ้า และสินค้าคงทน ที่มีอายุการใช้งานยาว ซึ่งผู้บริโภคมองว่าอาจจะยังไม่จำเป็นต้องซื้อในช่วงนี้ และนำเงินมาเก็บสำรองไว้ก่อน รวมไปถึงธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยาวจากการสั่งปิดสถานประกอบการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการรวมของคนหมู่มาก เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดงานแสดง ธุรกิจโรงภาพยนต์ เป็นต้น โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ
ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจยังมีผลส่งต่อมาถึงภาคแรงงานในการเลิกจ้างงาน และชะลอการจ้างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่อิงกับภาคท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและสริมสวย ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงแรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกลดลงอย่างมาก ทำให้จำเป็นต้องมีการเลิกจ้าง และชะลอการจ้างงานออกไปก่อน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ปัจจัยทางด้านหนี้สินที่เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดันต่อผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆด้วย โดยกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสายการบิน ที่มีการลงทุนค่อนขางมากในช่วงภาวะปกติ ทำให้ธุรกิจอาจจะเกิดผลกระทบขึ้นได้หากถือเงินสดอยู่ในมือน้อยในช่วงวิกฤติที่เกดขึ้นนี้
ปัจจุบันจะเห็นภาพชัดจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจัดแคมเปญและโปรโมชั่นการตลาด ให้ส่วนลดกับยูนิตที่เหลือขาย เพื่อระบายสต็อก ทำให้มีเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้สามารถไปต่อได้ เนื่องจากที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยก่อหนี้เพิ่มขึ้นสูงเป็น 6-7 เท่า จากในช่วงก่อนหน้า ค.ศ.2008 ทำให้ในช่วงนี้ต้องเร่งระบายสินค้าออกเพื่อทำให้เงินไม่จม และมีเงินเข้ามาทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้
ส่วนการถือครองเงินสดของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่พบว่ามีเงินสดเพียงพอดำเนินธุรกิจต่อไปได้เฉลี่ยประมาณ 2 เดือน และมีส่วนน้อยที่อยู่ได้น้อยกว่า 2 เดือนด้วย ซึ่งจะเห็นว่าภาพในปัจจุบันในวิกฤติที่เกิดขึ้นเงินสดถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ และช่วยป้องกันธุรกิจจากผลกระทบที่เข้ามา ต่างจากในภาวะปกติที่การถือเงินสดเยอะจะทำให้ธุรกิจเสียโอกาส
บจ.ตลาดส่วนใหญ่มีเงินสดอยู่ได้ 2 เดือน และน้อยกว่า 2 เดือนก็มี ซึ่งทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าในช่วงวิกฤติคนที่มีหนี้น้อยและถือเงินสดไว้มากจะเป็นโอกาสที่ทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ และช่วยป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ
แม้ว่าภาพของผลกระทบจากโควิด-19 จะสะท้อนมาถึงเศรษฐกิจและภาคธุรกิจที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว แต่ภาพของตลาดหุ้นทั่วโลก และตลาดหุ้นไทยในตอนนี้ค่อนข้างไม่ได้รับผลกระทบจากแตกต่างจากภาคที่เป็น Real Economy ที่มีกระทบมากอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลก และต้องจับตาดูต่อไป
นายนิรุต พิเสฎฐศลาศัย อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกปีนี้มากกว่าวิกฤติซัพไพร์ม ค.ศ.2008 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกใน ค.ศ.2009 ติดลบ 1.7% แต่ในวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกติดลบได้ถึง 3% ใน ค.ศ.2020
การที่เศรษฐกิจตกลงอย่างหนักจะส่งผลมาถึงตลาดหุ้นที่จะปรับตัวลงตามเศรษฐกิจ แต่ในวิกฤติครั้งนี้ตลาดหุ้นตกลงไปไม่มาก และสามารถเด้งกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลา 1 เดือน อย่างเช่น ตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีปรับตัวลดลง 56% ในช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา และปรับเพิ่มขึ้นมาทำให้ในสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาดัชนี SET ปรับลดลงเหลือ 26% ซึ่งแตกต่างจากวิกฤติซัพไพร์มที่ตลาดหุ้นใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวนานเป็นเดือน
วิกฤติครั้งนี้ถือว่าสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นอย่างมาก ซึ่งการปรับตัวขึ้นกลับมาอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นในครั้งนี้คาดว่าจะมาจากนักลงทุนที่มองว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจล้มแบบโดมิโน่เหมือนอย่างวิกฤติซัพไพร์ม และธนาคารกลางต่างๆ และรัฐบาลทั่วโลกได้มีบทเรียนมาแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้รีบออกมาตรการมาช่วยพยุงเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดคลายความตกใจและกังวลน้อยลง โดยเฉพาะการทำมาตรการ QE ที่เข้ามาเสริมสภาพคล่องในระบบ ซึ่งตลาดก็ทราบดีว่าเงินที่มาจาก QE จะไม่มีที่ไป เพราะดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำมาก หรือ 0% สุดท้ายเงินก็เข้ามาในตลาดหุ้น ทำให้มีการกลับเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นเร็วขึ้น
ส่วนตลาดตราสารหนี้ที่เคยเป็นเสมือนหลุมหลบภัยในช่วงวิกฤตินั้นได้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะในวิกฤติครั้งนี้ตลาดตราสารหนี้ถือว่ามีความไม่ปลอดภัย หลังจากที่นักลงทุนเริ่มกังวลเริ่มความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่ลดลง ทำให้นักลงทุนเทขายตราสารหนี้ออกมา และมีบางกองทุนตราสารหนี้ขาดสภาพคล่อง พร้อมกับความกังวลตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ช่วง 6 เดือนข้างหน้าที่บริษัทเอกชนจำเป็นต้อง Roll Over ออกตราสารหรือหุ้นกู้ใหม่เพื่อไปใช้หนี้เก่า ซึ่งมีโอกาสที่จะไม่สามารถทำการ Roll Over ได้ในภาวะวิกฤติแบบนี้ และส่งผลไปถึงการผิดนัดชำระหนี้
โดยที่มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้ามาช่วยหลือตลาดตราสารหนี้ผ่านกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ที่จะรับซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งเกรด BBB ขึ้นไป ซึ่งหุ้นกู้เอกชนของไทยส่วนใหมีอันดับเครดิตเรตติ้ง BBB และ A แต่จะต้องจับตามความเสี่ยงของการปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้งในช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งบริษัทที่ได้เครดิตเรตติ้ง BBB บางบริษัทอาจถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้งลง จากปัญหาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถเข้าเกณฑ์การรับซื้อของกองทุน BSF ได้
นายรุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างก็ปรับตัวลดลงกันค่อนข้างมาก และนักลงทุนทั้ง 2 ตลาดต่างเจ็บตัวกันตามไปมากด้วย และความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ส่งผลให้การบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนทำได้ลบาก เพราะไม่สามารถคาดเดาและจับจังหวะได้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังถือว่ามี Performance ที่ดีใกล้เคียงกับดัชนี MSCI world index ที่ลดลงไป 20% แต่อาจจะต้องระมัดระวังในเรื่องกำไรบริษัทจดทะเบียน ที่หลายสถาบันคาดการรณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ลดลงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางของผลตอบแทนจากการลงทุนจะเป็นอย่างไร ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากและถูกปรับประมาณการกำไรลงมาก คือ ธนาคารพาณิชย์ เหมืองแร่ พลังงานและปิโตรเคมี ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ ธุรกิจเกษตร อาหาร อุปกรณ์เกี่ยวกับของใช้จำเป็นบ้าน เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนของเงินสกุลในภูมิภาคเอเชียได้รับผลกระทบตามไปด้วย จะเห็นได้จากสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลงมาก ในขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น เพราะคนมีการถ่ายโอนเงินไปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักของโลก เพื่อปิดความเสี่ยง ปิดสัญญาการลงทุนต่างๆ และถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯที่มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง
ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจว่าเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาดี และเงินเฟ้อจะเริ่มกลับมาสูงขึ้นในระยะยาว จากการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งสวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นที่ลดลง เพราะนักลงทุนไม่อยากถือพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น และไม่ลงทุนถือดอกเบี้ยที่สูงกว่าอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปได้อีก
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยนักลงทุนคาดว่าในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 63 มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.5% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 0.7% ต่อปี
ด้านราคาสินทรัพย์โภคภัณฑ์ (Comodity) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด คือ น้ำมัน ซึ่งสะท้อนจากความต้องการใช้ทั่วโลกที่ตกต่ำลงมาก ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงและเกิดการติดลบ ขณะที่ทองคำ ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และป้องกันความเสี่ยงได้ในช่วงวิกฤติครั้งนี้ ราคามีการปรับขึ้นจาก 1,400 เหรียญสหรัฐฯ/ออนซ์ ไปอยู่ที่ 1,600-1,700 เหรียญสหรัฐฯ/ออนซ์ สะท้อนภาพว่านักลงทุนยังไม่มั่นใจการฟื้นตัวกลับมาของวิกฤติในครั้งนี้อย่างรวดเร็ว
นายรุ่งเกียรติ มองภาพการฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 หากสามารถค้นพบยาหรือวัคซีนมารักษาโควิด-19 ได้แน่นอนแล้วในสิ้นปี 63 แต่ยังไม่สามารถผลิตมาใช้ได้ทัน คาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นขึ้นในลักษณะ V shape และตลาดหุ้นจะรับข่าว และฟื้นตัวกลับมาได้เร็วในช่วงสิ้นปีนี้หรือต้นปี 64
ส่วนกรณีที่ 2 หากทุกประเทศปลดล็อกดาวน์ได้ในไตรมาส 2/63 ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินงานตามปกติ และค้นพบยาหรือวัคซีนรักษาโควิด-19 ในช่วงกลางปี 64 ทำให้เศรษฐกิจเริ่มค่อยๆกลับมาเดินเครื่องอย่างค่อยไปค่อยไป คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ V shape ในช่วงสิ้นปี 64 และตลาดหุ้นจะฟื้นตัวแบบ V shape ในช่วงสิ้นปี 64 เช่นเดียวกัน
การจัดพอร์ตของนักลงทุนแนะนำให้เพิ่มสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงในวิกฤติเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน และการจัดพอร์ตควรเป็นในลักษณะที่ได้ผลตอบแทนต่อเนื่อง แบบค่อยไปค่อยไป หรือแบบผสม ที่สามารถกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนและความผันผวนที่รุนแรงได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 63)
Tags: คณิศร์ แสงโชติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิรุต พิเสฎฐศลาศัย, รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น