- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยอดสะสม 2,992 คน (+3)
- รักษาหายแล้ว 2,772 คน (+11)
- ยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 165 คน
- เสียชีวิตสะสม 55 คน (-)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกจากผู้สัมผัสกับผู้ที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซีย 1 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อรอดูอาการ 2 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 2,992 ราย ผู้ป่วยที่กลับบ้านได้แล้ว 2,772 ราย โดยวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 55 ราย
สำหรับจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน พบว่าเพิ่มขึ้น 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก ลำปาง ชัยภูมิ และตรัง รวมเป็น 39 จังหวัดแล้ว ทำให้กลุ่มจังหวัดที่มีผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 28 วันที่ผ่านมาเหลือเพียง 29 จังหวัด ขณะที่ 9 จังหวัดยังเหนียวแน่น ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อมาตั้งแต่แรก
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการประชุม ศบค.ในช่วงเช้าที่ผ่านมาซึ่งมีนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.ได้มอบแนวทางการทำงานโดยขอให้ทุกภาคส่วนดูแลความสำคัญในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านอย่างเข้มงวดและลดผลกระทบจากโควิด-19 ในภาคส่วนต่างๆ แม้สถานการณ์จะเป็นที่น่าพอใจแต่ก็ยังต้องดำเนินการในเชิงรุก ดูแลอย่างเข้มงวดการเข้าออกประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ให้มีการนำเชื้อเข้ามาและต้องมีการทำ State Quarantines หรือ Local Quarantines ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ และมีมาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ มาตรการฉุกเฉินในระยะที่ 1 นั้น ได้ดำเนินการมาอย่างเคร่งครัด และห้ามละเลย ขอให้ศบค. หน่วยงานความมั่นคง ด้านสาธารณสุข ด้านทหาร ตำรวจ เข้าไปตรวจให้เป็นไปตามมาตรฐาน และข้อกำหนด พร้อมทั้งประสานผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ดำเนินการตามมาตรการ และดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้พิจารณามาตรการในด้านต่างประเทศ พร้อมให้รายงานผลจากการผ่อนคลายสถานการณ์ รวมถึงแนวทางการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งข้อเสนอของผู้ประกอบการ นายกรัฐมนตรีขอให้ศูนย์ช่วยเหลือทั้งหลายช่วยเร่งดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ รวมทั้งเก็บตกผู้ที่ตกหล่นทั้งหลายให้เข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาด้วย พร้อมทั้งดูแลเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานต่างๆ อย่างหนักให้ได้รับเบี้ยเลี้ยง
ด้านปลัดสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศยังมีการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ ในส่วนของต่างประเทศที่เคยมีการระบาดและมีการผ่อนปรน ปรากฎว่ามีการระบาดอีกรอบ ส่วนในประเทศเกิดขึ้นจากผู้สัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ, การเคลื่อนย้ายของประชากร, การมั่วสุม การดื่มสุรา จึงมีข้อเสนอว่าให้คงมาตรการในประเทศให้เข้มข้นและตรึงการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศให้ได้
นายกรัฐมนตรีมีข้อชี้แนะว่าให้มีมาตรการแนวทางเฉพาะกิจการหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า ทั้งเรื่องความแออัด มาตรการกรณีที่เกิดรถเสีย มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าหรือไม่ การขายตั๋วต้องเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ รวมทั้งงานต่างๆ ของ 20 กระทรวงก็ต้องให้มีการประชาสัมพันธ์ในภารกิจของแต่ละกระทรวงที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งที่ประชุม ศบค.เห็นตรงกันให้มีการเหลื่อมเวลาทำงาน 30 นาทีอาจไม่พอ ต้องมีการเหลื่อมหลายช่วงเวลา โดยมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไปดูในรายละเอียดว่าจะทำให้มีการเหลื่อมมากขึ้นได้หรือไม่ เพราะการแออัดในสถานที่ขนส่งมวลชนเป็นเพราะยังมีการทำงานกันอยู่ การทำงานเหลื่อมเวลาคงจะช่วยได้
สำหรับการทำงานอยู่บ้าน หรือ Work from Home ซึ่งเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เน้นย้ำว่าต้องเกิดขึ้นมากที่สุด 50% ขึ้นไป มีการพูดคุยว่าจะเกิดมาตรการนี้อย่างไรเพื่อช่วยลดการเคลื่อนย้ายของคน การเข้าสู่กระแส New normal ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจรายงานการทำงานที่บ้านและการเหลื่อมเวลาการทำงาน ขณะที่สถานศึกษาให้ขยายช่วงเวลาเปิดเรียนออกไป โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการเรียนการสอน เช่น การสอนผ่านออนไลน์ หรือ โทรทัศน์ดาวเทียม เป็นต้น
ส่วนการรายงานการดำเนินมาตรการผ่อนปรน ทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานกรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินกิจการ/กิจกรรม ที่ได้เริ่มไปแล้วเมื่อ 3 พ.ค.63 ว่า ในส่วนของบางกิจการจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร ได้แก่ การเปิดสถานดูแลผู้สูงอายุ ร้าน Furniture วัสดุก่อสร้าง กิจการที่เกี่ยวข้องกับด้านสินเชื่อ ประกันภัย ในห้างสรรพสินค้า ซึ่ง ศบค.จะพิจารณาผ่อนปรนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ในส่วนของสถานดูแลผู้สูงอายุ ไม่มีในข้อกำหนด แต่ไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมโรค และเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดในการพิจารณาเพิ่มเติม
“การดูแลผู้สูงอายุแบบนอนค้างคืนสามารถทำได้ แต่แบบไป-กลับอาจจะยังต้องงด เนื่องจากเป็นการเดินทางไปมาอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ร้านขายวัสดุก่อสร้าง, เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ สินเชื่อประกันภัย ในห้าง เป็นต้น จะมีการพิจารณาการผ่อนปรนตามความจำเป็น เนื่องจากช่วงนี้มีภัยพิบัติ บ้านเรือนพังเสียหาย ประชาชนต้องซื้อหาวัสดุอุปกรณ์ โดยขณะที่อยู่ในช่วงการศึกษา, แก้ไข, ปรับปรุง ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในระดับหนึ่ง แต่ต้องดูในข้อกฎหมายเพื่อพิจารณาให้เปิดได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ สมช.” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ในส่วนการผ่อนปรนระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันที่ 8-12 พ.ค.นี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสำหรับชุดข้อมูลเชิงสถิติ เชิงสถานการณ์ และความคิดเห็นต่างๆ หลังจากมีการผ่อนปรนระยะแรกไปแล้ว จากนั้นวันที่ 13 พ.ค.จะซักซ้อมความเข้าใจ และวันที่ 14 พ.ค.จะเป็นการยกร่างข้อกำหนดผ่อนปรนระยะที่ 2 นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้ตัวเลขผู้คติดเชื้อทะลุไปมากกว่าที่เป็นอยู่ วันที่ 17 พ.ค.ก็จะเริ่มเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 2 ในกิจการที่มีขนาดใหญ่และมีคนพลุกพล่านมากขึ้นกว่าระยะแรก
ส่วนห้างสรรพสินค้าจะได้เปิดทำการกลางเดือน พ.ค.นี้ ด้วยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ถ้าควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็คงสามารถเปิดได้แน่นอน เพราะทุกคนก็อยากกลับไปสู่ภาวะปกติ แต่ก็ต้องเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ ซึ่งในแต่ละธุรกิจถ้ามีมาตรการที่ดี ไม่ใช่เฉพาะห้างฯ ก็จะได้เปิดเร็วขึ้น แต่ตอนนี้ยังเป็นหลักการอยู่ เพราะไม่ได้ขึ้นกับภาครัฐอย่างเดียว แต่ประชาชนต้องร่วมมือกันด้วย
“ออกกฎมาเพื่อให้ประชาชนร่วมมือ และหากประชาชนไม่ทำตามกฎจะต้องทำอย่างไร ถ้าตามมาตรการ อีก 10 วันข้างหน้า เราอาจจะได้ไปในที่ที่ทุกคนอยากไปอีกหลายที่” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ด้านกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานผลถึงคนไทยกลับจากต่างประเทศมี 2 หลักเกณฑ์ คือ กลุ่มเปราะบาง คือ ผู้ป่วย, คนตกค้างจากสนามบิน, วีซ่าหมดอายุ, นักท่องเที่ยวที่ตกค้าง และอีกกลุ่มที่ด่วนมากคือ พระสงฆ์, นักเรียนนักศึกษาที่ไปเรียน และคนตกงาน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้มีการเสนอว่าน่าจะมีการปรับในเรื่องการประกาศรายชื่อ และถอนประเทศบางประเทศออกไป เพื่อให้มีเรื่องของการทำงานหรือมีความสัมพันธ์ในเชิงด้านเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ที่ดีกันไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีและที่ประชุม ศบค.เห็นชอบ แต่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนไป ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่พึ่งพาการเดินทางต้องระมัดระวังด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าประเทศได้ทันที ยังต้องมีมาตรการต่างๆ ที่จะจัดการต่างๆ ซึ่งในที่ประชุม ศบค.คงต้องมีการพูดคุยกันต่อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เพิ่มเติมเรื่องการผลิตวัคซีนร่วมกันของอาเซียน และความเป็นไปได้ในการดึงผู้มีความรู้เข้ามาผลิตร่วมกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19