บมจ. พีรพัฒน์ เทคโนโลยี (PRAPAT) ยื่นข้อมูลไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 29.41 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยบริษัทฯมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้ลงทุนในระบบบัญชีและระบบควบคุมการผลิต จำนวนเงินลงทุนที่ใช้จากการระดมทุน 50 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินในไตรมาส 4/63 ถึงไตรมาส 2/64, ใช้ลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติม จำนวนเงินลงทุนที่ใช้จากการระดมทุน 72 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินในไตรมาส 1/64 ถึงไตรมาส 1/65 และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน คาดว่าจะใช้เงินในปี 2563-2564
บริษัทและบริษัทย่อยประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำยาซักรีด น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสำหรับภาคอุตสาหกรรม นำเข้าเพื่อจำหน่ายและให้เช่าเครื่องล้างภาชนะอัตโนมัติ นำเข้าและจำหน่ายสระว่ายน้ำสำเร็จรูป และอุปกรณ์ที่ใช้ในสระว่ายน้ำ รวมทั้งให้บริการแบบครบวงจรเกี่ยวกับน้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Hygiene Cleaning Solution) ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตน้ำยา ตั้งอยู่ที่ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าผ่านทางทีมงานฝ่ายขายของบริษัท ศูนย์ธุรกิจ และสาขา อีกทั้งบริษัทยังมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายที่บริษัทเป็นผู้คัดเลือกซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด 18 ราย ครอบคลุมเขตพื้นที่การขายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) โดยรูปแบบการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในแต่ละประเทศที่ขยายเขตพื้นที่การขายเข้าไป ปัจจุบันมีการแต่งตั้งตัวแทน 8 รายในพื้นที่การขาย 5 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว และอินโดนีเซีย อีกทั้ง ในอนาคตมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเพิ่มเติม อาทิ บังคลาเทศ เป็นต้น
บริษัทมีบริษัทย่อยรวม 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ไทยสจ็วต เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (TSS) บริษัท แอลไลส์ อินเตอร์เทรด จำกัด (AL) บริษัท แคลวาทิส-เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (CVT) และบริษัท มิสเตอร์พูล จำกัด (MP) ซึ่งบริษัทย่อยแต่ละบริษัทจะมีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน และ/หรือเน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะด้าน ทั้งนี้ การจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจเป็นไปเพื่อแบ่งแยกความชัดเจนในการบริหารจัดการให้มีความชัดเจนในด้านกลุ่มลูกค้าและความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์เฉพาะด้าน
ผลดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 942.92 ล้านบาท หนี้สินรวม 594.08 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 348.84 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 815.48 ล้านบาท รายได้จากการให้บริการ 169.43 ล้านบาท กำไรสุทธิ 51.60 ล้านบาท
ในปี 2560-2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม เท่ากับ 904.75 ล้านบาท 934.40 ล้านบาทและ 1,003.83 ล้านบาท ตามลำดับ กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายเติบโตเฉลี่ย 3 ปี (CAGR) เท่ากับร้อยละ 4.57 ต่อปี โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ซักรีด โดยมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 23.73 – 24.77 ของรายได้จากการขาย อันดับที่สอง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ โดยมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 21.30 – 24.20 ของรายได้จากการขาย และอันดับที่สาม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์สระว่ายน้ำ โดยมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 17.32 – 20.15 ของรายได้จากการขาย
ปี 2560-2562 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้เช่าและบริการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี (CAGR) เท่ากับร้อยละ 9.29 ต่อปี โดยงานบริการที่มีสัดส่วนหลักมาจากงานบริการกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านครัว ร้อยละ 68.83 – 71.96 ของรายได้จากการให้เช่าและบริการ และงานบริการกลุ่มผลิตภัณฑ์สระว่ายน้ำ มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 25.42 – 30.72 ของรายได้จากการให้เช่าและบริการ
ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทในปี 2560 ปี 2561 และปี 2562 เท่ากับ 43.21 ล้านบาท 31.21 ล้านบาท และ 45.23 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในปี 61 กำไรสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทลดลงจากปีก่อนหน้า จำนวน 12 ล้านบาท เป็นผลมาจากกำไรขั้นต้นที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น ส่วนในปี 62 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัท เท่ากับ 45.23 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 14.02 ล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหารก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในจำนวนน้อยกว่ากำไรขั้นต้น
สำหรับปี 2563 กำไรสุทธิอาจจะลดลงจากปี 2562 อันเนื่องมาจากผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งกดดันให้รายได้ที่คาดการณ์อาจจะลดลง กอปรกับอัตราการทำกำไรอาจลดลงเนื่องจากกลุ่มบริษัทมีการกำหนดมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าของบริษัทเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ให้สามารถผ่านพ้นในช่วงวิกฤตได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์หรือภาวะทางธุรกิจในอนาคต
โครงการในอนาคต เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของบริษัท ดังนี้
1.ลงทุนในระบบบัญชีและระบบควบคุมการผลิต บริษัทมีแผนที่จะลงทุนในระบบบัญชีและระบบควบคุมการผลิต ได้แก่ ระบบ ERP และระบบ SCADA ซึ่งระบบ ERP เป็นระบบบัญชีที่สามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมากได้ และระบบ SCADA เป็นระบบควบคุมการผลิตที่มีจุดเด่นในการใช้เครื่องจักรควบคุมการผลิตแทนคน ทั้ง 2 ระบบที่บริษัทวางแผนจะลงทุนดังกล่าวสามารถที่จะเชื่อมต่อกันและส่งข้อมูลจากสายงานผลิตตรงเข้าสู่ระบบบัญชีได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยบริษัทคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนระบบ ERP และระบบ SCADA รวมประมาณ 50 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการสั่งซื้อ ติดตั้งระบบ ถ่ายโอนฐานข้อมูล ทดสอบระบบ จนกระทั่งใช้งานระบบได้อย่างสมบูรณ์ (Go LIVE) ฝ่ายบริหารกำหนดว่าจะเริ่มดำเนินการสั่งซื้อในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 เพื่อให้สามารถใช้งานระบบดังกล่าวได้เริ่มต้นภายในปี 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจัดหาแหล่งเงินลงทุนจากเงินระดมทุน IPO และ/หรือวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือกระแสเงินสดภายในกิจการ
2.ลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติม บริษัทมีแผนที่จะลงทุนสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติมในบริเวณที่ตั้งของโรงงาน โดยมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นประมาณ 5,800 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ คลังสินค้าดังกล่าวจะถูกใช้สำหรับการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำยาโดยเฉพาะแยกจากผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น และจะสร้างท่าขึ้นสินค้า (Land Dock) สำหรับการขนถ่ายสินค้าขึ้นรถขนส่งแต่ละขนาด ซึ่งการบริหารและการออกแบบดังกล่าวจะส่งผลให้การควบคุมสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นและการจัดส่งสินค้าจะทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากการขนส่งผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำยา ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการผลิตนำเข้ามาจัดเก็บและจัดส่งออกไปจำหน่ายมากที่สุด ได้ถูกแยกออกจากผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น และท่าขึ้นสินค้าถูกออกแบบให้พอดีกับขนาดของรถบรรทุกแต่ละรุ่น ทำให้สามารถลดเวลาและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในการเคลื่อนย้ายสินค้า
อีกทั้ง บริษัทอยู่ระหว่างการวิจัยระบบ RFID ซึ่งคือระบบเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้คลื่นแม่เหล็กหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแทนการสัมผัสในการเก็บและส่งต่อข้อมูล เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารคลังสินค้าต่อไป อาทิ การนำ RFID ไปฝังหรือติดไว้กับผลิตภัณฑ์เพื่อติดตาม (Tracking) การเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยบริษัทคาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าใหม่ประมาณ 72 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างคลังสินค้าได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทได้มีการออกแบบ และขอใบอนุญาตก่อสร้างที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 12 – 18 เดือน สำหรับการดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจัดหาแหล่งเงินลงทุนจากเงินระดมทุน IPO และ/หรือวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือกระแสเงินสดภายในกิจการ
3.ลงทุนก่อสร้างโชว์รูมวังมะนาว บริษัทได้ลงทุนเช่าที่ดินบริเวณวังมะนาว สัญญาเช่า 7 ปี (1 กันยายน 2561 – 1 กันยายน 2568) ซึ่งบริษัทมีแผนงานที่จะก่อสร้างโชว์รูมสำหรับการจัดแสดงสินค้าและสาธิตการใช้น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ รวมทั้งสาธิตการใช้งานเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เครื่องล้างจาน เครื่องล้างแก้ว เครื่องจ่ายน้ำยาอัตโนมัติ (Dispenser) อุปกรณ์สระว่ายน้ำ เป็นต้น อีกทั้ง บริษัทยังมีแผนที่จะสนับสนุนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตราสินค้าในเครือ PRAPAT เพื่อเพิ่มการรับรู้แบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยตรง เนื่องจากว่าสถานที่ตั้งของโชว์รูมใหม่นี้ตั้งอยู่ริมถนนหลวง มีผู้ใช้งานสัญจรกันเป็นจำนวนมาก และเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปสู่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยบริษัทคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างโชว์รูมดังกล่าวประมาณ 9 ล้านบาท บริษัทคาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจัดหาแหล่งเงินลงทุนจากวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือกระแสเงินสดภายในกิจการ
ณ วันที่ 22 เม.ย.2563 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 170 ล้านบาท แบ่งเป็น 340 ล้านหุ้น และเป็นทุนชำระแล้ว 120 ล้านบาท แบ่งเป็น 240 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หลังเสนอขาย IPO แล้ว บริษัทมีทุนจดทะเบียน 170 ล้านบาท แบ่งเป็น 340 ล้านหุ้น และเป็นทุนชำระแล้ว 170 ล้านบาท แบ่งเป็น 340 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ณ วันที่ 22 เม.ย.2563 ประกอบด้วย กลุ่มนายสืบพงศ์ เกตุนุติ ถือหุ้น 48,304,007 หุ้น คิดเป็น 20.13% หลังขาย IPO ครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 14.21%, กลุ่มนายวีระพงค์ ลือสกุล ถือหุ้น 40,909,826 หุ้น คิดเป็น 17.05% หลังขาย IPO ครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 12.03%, กลุ่มนางสาวชลนที ถวิลเติมทรัพย์ ถือหุ้น 38,246,154 หุ้น คิดเป็น 15.94% หลังขาย IPO ครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 11.25%
บริษัทมีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่นตามที่บริษัทกำหนด โดยพิจารณาจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 63)
Tags: CVT, IPO, mai, MP, PRAPAT, TSS, ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, พีรพัฒน์ เทคโนโลยี, มิสเตอร์พูล, หุ้นไทย, แคลวาทิส-เอเชีย แปซิฟิค, แอลไลส์ อินเตอร์เทรด, แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์, ไทยสจ็วต เซอร์วิสเซ็ส, ไฟลิ่ง, ไอพีโอ