ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 68.3 จากเดือน พ.ย. 62 ที่อยู่ในระดับ 69.1 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 68 เดือน จากความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 56.0 ลดลงจากเดือน พ.ย.62 ที่อยู่ในระดับ 56.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 64.8 ลดลงจาก 65.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 84.2 ลดลงจาก 85.6 เช่นกัน
สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 62 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% จากเดิมที่คาดว่า 2.8% ส่วนในปี 63 คาดว่าจะขยยายตัว 2.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.3% เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ผ่านมาหดตัวกว่าที่ประเมินและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดตามการค้าโลกที่ชะลอลงจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน
โดยประเมินการส่งออกไทยปี 62 ติดลบ 3.3% ส่วนปี 63 คาดส่งออกขยายตัว 0.5%, ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนพ.ย. 62 ลดลง -7.39%, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลรายได้ของเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก
สำหรับปัจจัยที่เป็นปัจจัยบวก ได้แก่ กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4/62 เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 63 ขยายตัวอย่างมีศักยภาพ, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ภาพรวมเงินบาทยังแข็งค่ามากกว่าการแข็งค่าของเงินสกุลของประเทศคู่แข่งในปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบในเชิงลบกับผู้ส่งออกโดยรวมอยู่เช่นเดิม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 62 อยู่ในภาวะทรงตัวและเริ่มฟื้นจากมาตรการชิม ช้อป ใช้ และมาตรการประกันรายได้ผลผลิตทางการเกษตร ขณะที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามา และบรรยากาศคึกคักช่วงใกล้ปีใหม่
“สถานการณ์เริ่มทรงตัวและฟื้น แต่มีเรื่องของความรู้สึกกังวลเจืออยู่ เศรษฐกิจปี 62 ยังเติบโตที่ระดับ 2.5-2.6% โตต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากก่อนหน้านี้เฉลี่ยปีละ 3% การว่างงานอยู่ที่ระดับ 1.0-1.1%” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะประกาศปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 63 อีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค.63 หลังได้รับรายงานข้อมูลจากหอการค้าทั่วประเทศแล้ว ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงแน่นอน จากประมาณการเดิมเมื่อ พ.ย.62 คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะโต 3.1% การส่งออกขยายตัว 1.8%
เนื่องจากหลังปีใหม่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเรื่องเงินบาทแข็งค่า และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ถึงแม้สถานการณ์ในขณะนี้จะคลี่คลายแต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ทุก 1 บาท/ลิตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเฉลี่ย 2,100 บาท/เดือน ส่วนค่าเงินบาทนั้นหากอยู่ที่ระดับ 30.50-31.00 บาท/ดอลลาร์จะมีความเหมาะสม เพราะหากอ่อนค่ามากเกินไปจะส่งผลต่อต่อการส่งออกแต่ทำให้ต้องสูญเสียเงินตราในการนำเข้าพลังงาน
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งนั้นคาดว่าจะส่งผลกระทบให้ลดลงไม่เกิน 0.03% โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากสุดคือ เกษตรกรที่ทำนาปรัง 3 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาดูแลได้ และต้องติดตามดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างไรให้ได้ผล
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจน่าจะเริ่มขยายตัวล่าช้าออกไปเป็นช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะในส่วนของงบลงทุน
“ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นทำให้การใช้จ่ายลดลง และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าออกไป” นายธนวรรธน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 63)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, หอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย