ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เปิดใจเด็กยากจนช่วงลำบากโควิด-19 โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 553 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 เม.ย.- 2 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าเด็กยากจนพิเศษช่วงลำบากโควิด-19 มีจำนวนมากถึง 732,843 คนทั่วประเทศโดยในขณะนี้ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.6 ได้รับความช่วยเหลือเรื่อง ปากท้อง ค่าครองชีพ อาหารการกินในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือร้อยละ 43.9 ระบุได้รับอุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 23.7 ระบุพ่อแม่ได้รับเงินช่วยเหลือ มีงานทำพัฒนาอาชีพ และร้อยละ 20.5 ระบุค่าเดินทางและอื่น ๆ
ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าไม่มีความช่วยเหลือดูแลจากหน่วยงานรัฐเข้ามาตอนนี้จะทำให้เกิดความทุกข์ยากมากน้อยเพียงไร ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 ระบุจะทุกข์ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 19.6 จะทุกข์ค่อนข้างน้อยถึงไม่ทุกข์เลย
ที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าไม่มีความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐในตอนนี้ โอกาสที่จะเรียนต่อเป็นอย่างไร ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.4 ระบุเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียนต่อ ในขณะที่ร้อยละ 33.6 ระบุเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.2 ของเด็กยากจนพิเศษระบุความช่วยเหลือดูแลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือนเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะที่ร้อยละ 46.8 ระบุเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ น่าปลื้มที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.1 ของเด็กยากจนพิเศษตั้งใจจะช่วยเหลือดูแลผู้อื่นต่อไปให้มากที่สุดถ้าตนเองประสบความสำเร็จในชีวิตข้างหน้า
ซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชี้ชัดว่าเป็นไปไม่ได้ที่เด็กยากจนพิเศษจะเรียนต่อถ้าไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าช่วยเหลือตอนนี้ หน่วยงานรัฐต่าง ๆ สามารถใช้ช่องทางของกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเข้าถึงพวกเขาได้อย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องรอให้พวกเขาร้องขอเพราะเสียงของพวกเขาไม่ได้ดังเหมือนเสียงของคนในโลกโซเชียลที่กำลังใช้โซเชียลมีเดียห่ำหั่นทำลายกันมากกว่าสร้างสรรค์
ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมเห็นพ้องต้องกันเร่งพิสูจน์ตัวตนเด็กเหล่านี้ด้วย “ความเป็นคนไทยที่เสมอภาค” มากกว่าพิสูจน์กันด้วยความยากจน ผลที่ตามมาคือ เราจะสามารถรักษาอนาคตที่ดีของชาติเอาไว้ได้หลายแสนรายกระจายเป็นพลังบวกที่สำคัญของสังคมอยู่ทั่วประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 63)
Tags: COVID-19, ค่าครองชีพ, ซูเปอร์โพล, นพดล กรรณิกา, โควิด-19