ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (1 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่เพื่อตอบโต้จีนที่เป็นต้นตอของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแพร่ระบาด และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,723.69 จุด ลดลง 622.03 จุด หรือ -2.55%
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,830.71 จุด ลดลง 81.72 จุด หรือ -2.81%
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,604.95 จุด ลดลง 284.60 จุด หรือ -3.20%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ ติดลบ 0.2%, ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 0.2% และดัชนี Nasdaq ลดลง 0.3%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงโดยถูกกดดันหลังจากปธน.ทรัมป์เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังเตรียมมาตรการตอบโต้จีนเพื่อลงโทษที่จีนเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก โดยบรรดานักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการขู่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนซึ่งเคยเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ปธน.ทรัมป์ตำหนิรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเมื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดเป็นครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นของจีน และแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังถูกกดดันจากการเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอด้วย
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P 500 ติดลบ โดยหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงรุนแรงที่สุด
หุ้นเทสลา ร่วงลง 10.3% หลังนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลาทวีตว่า ราคาหุ้นเทสลาอยู่ในระดับที่สูงเกินไป
หุ้นอเมซอน ดิ่งลง 7.6% หลังบริษัทเตือนว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้บริษัทขาดทุนรายไตรมาสเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี
หุ้นแอปเปิล ลดลง 1.6% หลังเปิดเผยผลประกอบการสูงเกินคาด แต่แอปเปิลปฏิเสธที่จะคาดการณ์ผลประกอบการในไตรมาสปัจจุบัน
หุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วง 7.2% หลังบริษัทรายงานผลกำไรลดลงจากการปรับลดมูลค่าทางบัญชี 3 พันล้านดอลลาร์ อันเนื่องมาจากอุปสงค์และราคาน้ำมันที่ร่วงลง
หุ้นเชฟรอน ร่วง 2.8% แม้รายงานผลกำไรเพิ่มขึ้น 38% โดยได้แรงหนุนจากการขายสินทรัพย์ และแผนการปรับลดรายจ่าย
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายประจำเดือนเม.ย.ของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 36.1 จากรายงานเบื้องต้นที่ 36.9 และลดลงจากระดับ 48.5 ในเดือนมี.ค.
ดัชนี PMI ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิต โดยดัชนีเดือนเม.ย.ทำสถิติดิ่งลงแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2552 หรือในรอบ 11 ปี เนื่องจากการล็อกดาวน์ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลของรัฐต่างๆ นำมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และห่วงโซ่อุปทาน
ส่วนผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 41.5 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 49.1 ในเดือนมี.ค. โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมี.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลดลง 3.5% โดยการดีดตัวขึ้นผิดความคาดหมายนี้ได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างในโครงการของรัฐบาล
ขณะที่การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างในเดือนก.พ. ถูกปรับทบทวนเป็นลดลง 2.5% จากรายงานก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าลดลง 1.3%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 63)
Tags: dowjones, Nasdaq, S&P500, ดาวโจนส์, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก