กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ประธานศูนย์อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อเรียกร้องให้กำหนดมาตรการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ทำให้อุปสงค์ของสินค้าเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และภาคการก่อสร้างหดตัวลง โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความต้องการใช้ในไตรมาส 1/63 คาดว่าจะลดลงถึง 36% หรือคิดเป็นปริมาณ 70 ล้านตัน และในไตรมาส 2/63 ความต้องการใช้จะยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันปี 62 ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือน มี.ค.63 จีนมียอดสินค้าคงคลังอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 49.3 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 62 หรือคิดเป็น 103%
อีกทั้งรัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณในการสนับสนุนการส่งออกเพื่อระบายสินค้าเหล็กจำนวนมากนี้ โดยเพิ่มการคืนภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจาก 10% เป็น 13% ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนมีแนวโน้มลดต่ำลงอีก จากที่ในปัจจุบันมีราคาต่ำจากการทุ่มตลาดอยู่แล้ว และมีความเสี่ยงสูงที่สินค้าเหล็กดังกล่าวจะไหลทะลักมายังประเทศไทยที่เป็นเป้าหมายการส่งออกลำดับต้นๆของจีน (จากสถิติส่งออกเหล็กของจีนปี 62 ไทยเป็นเป้าหมายอันดับ 3)
ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กยังคงสามารถดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติต่อไปได้ ขอให้นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายกำหนดมาตรการเพิ่มเติม 5 ข้อคือ
1) พิจารณาสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด (Critical Industry & Supply Chain: CISC)
2) พิจารณาเร่งรัดการจัดทำระเบียบปฏิบัติที่ส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ที่ผู้ประกอบการสามารถผลิต และจำหน่ายให้กับงานโครงการของรัฐได้ โดยการให้แต้มต่อ 3-7% กับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพตาม มอก. และกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กและเหล็กกล้าที่ผลิตได้ภายในประเทศ (Local Content) 90% เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กทั้งห่วงโซ่การผลิต
3) พิจารณาเร่งรัดการบังคับใช้มาตรการทางการค้าเพื่อให้สามารถป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศได้อย่างทันท่วงที โดย
3.1 เร่งรัดการจัดทำอนุบัญญัติเพื่อบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention: AC) และพิจารณาใช้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมการนำเข้าเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการจัดทำอนุบัญญัติ และยังไม่มีมาตรการ AC
3.2 เร่งรัดกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับสินค้าเหล็กที่อยู่ระหว่างการไต่สวน
3.3 พิจารณาต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น (SG)
4) พิจารณาดำเนินมาตรการตรวจติดตามเชิงรุก (Active Surveillance) ตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามีการนำเข้าที่ผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม
5) พิจารณาใช้มาตรการ AD, AC, CVD, Safeguard หรือมาตรการห้ามนำเข้า ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 (ขึ้นกับสถานการณ์ความรุนแรง) กรณีที่มีการนำเข้าที่ผิดปกติ
“มาตรการเพิ่มเติมทั้ง 5 ข้อเป็นสิ่งที่กลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็กคาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณา และมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นมาตรการที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กสามารถยืนหยัดสู้ฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 โดยยังคงสามารถประกอบกิจการ รวมถึงยังคงรักษาความสามารถในการจ้างงานต่อไปได้” เอกสารระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 63)
Tags: คืนภาษี, ส่งออก, สินค้าเหล็ก, อุตสาหกรรมเหล็ก, เหล็ก