ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความกังวลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวไทยบางกลุ่ม กอปรกับในช่วงปลายเดือนมี.ค. 63 ทางการได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และในหลายจังหวัดได้ยกระดับมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 โดยเฉพาะควบคุมการเดินทางเข้า-ออกระหว่างจังหวัด
มาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นเป็นเวลา 14 วัน การปิดสถานที่ท่องเที่ยวอย่างวนอุทยานแห่งชาติและชายฝั่งทะเล รวมถึงระบบการคมนาคมขนส่งอย่างบางสายการบินที่ปิดให้บริการเส้นทางการบินในประเทศ และแม้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวอย่างโรงแรมและที่พักในบางพื้นที่จะไม่ได้ปิดการให้บริการก็ตาม แต่จากสถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลทำให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศลดลง
จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 นี้ จำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหดตัวถึง 29.5% (YoY) และส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหายไปแล้วกว่า 90,000 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงปลายเดือนเม.ย. 63 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้น โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างสายการบินมีแผนที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งในช่วงเดือนพ.ค. 63 แต่ยังเป็นเฉพาะบางเส้นทาง
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว อาทิ ในหลายๆ สถานที่น่าจะยังคงมาตรการเข้มข้นในการดูแลและป้องกันเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง อาทิ การควบคุมการเดินทางระหว่างจังหวัดหรือการกักตัว 14 วัน สำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น และการปิดสถานที่ท่องเที่ยวในบางจังหวัด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะหดตัวประมาณ 52.2% (YoY) ซึ่งหากในช่วง 1 เดือน ต่อจากนี้ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่คาดว่าทางการน่าจะพิจารณาลดระดับความเข้มข้นของมาตรการลงในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้
ในครึ่งหลังของปี 2563 หากประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ สถานการณ์ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะค่อยๆ กลับมา แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาฟิ้นตัวเป็นบวกได้
ทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ทางการผ่อนคลายมาตรการลงเป็นลำดับ สถานที่ท่องเที่ยวและการให้บริการด้านการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างสายการบินที่น่าจะเริ่มเปิดเส้นทางการบินในประเทศมากขึ้น เมื่อประกอบกับการทำกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจากผู้ประกอบการ จะทำให้บรรยากาศและความต้องการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศค่อยๆ กลับมา
สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดบน เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากนัก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลายประเทศยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวระดับพรีเมียม เช่น โรงแรมหรู ที่โดยปกติจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบน หันมาทำกิจกรรมการตลาด จัดแพคเกจการท่องเที่ยวร่วมกับพันธมิตรอย่างสายการบินหรือเรือยอร์ชเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยระดับบนมากขึ้นแทน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักไปช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังอ่อนแอ ซึ่งทำให้ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะยังไม่สามารถกลับมาเป็นบวก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะยังหดตัวประมาณ 52.4% ถึงหดตัวประมาณ 41.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทั้งปี 2563 นี้ คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 79.5-89.5 ล้านคน-ครั้ง หรือหดตัวประมาณ 52.3% ถึงหดตัวประมาณ 46.4% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่าประมาณ 4.85-5.45 แสนล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 55.1% ถึง หดตัวประมาณ 49.4% จากปีที่ผ่านมา (การประเมินอยู่ภายใต้สมมติฐานที่โควิค-19 ไม่กลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้)
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธุรกิจท่องเที่ยวยังมีความท้าทายกับการปรับตัวสู่วิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business Norms) ท่ามกลางสภาพคล่องที่จำกัด แต่รายได้ยังไม่ได้ฟื้นกลับคืนมา การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในภาคธุรกิจมากขึ้น และการทำธุรกิจร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวในประเทศคงจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ
สำหรับแนวทางที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวคงต้องดำเนินการ อาทิ การปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโควิด-19 ที่ยังต้องเข้มข้นต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว โดยอาจจะต้องใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในการสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากขึ้น
อาทิ การทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่อาจมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าช่องทางอื่นๆ อาทิ การใช้แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram หรือ Line โดยนำเสนอแพคเกจพิเศษให้กับผู้ที่เป็นเพื่อน/กลุ่มลูกค้าเก่าที่เคยมาใช้บริการ/สมาชิกกับผู้ประกอบการทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมเข้าไปหาข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกกลุ่มที่เหมาะสมกับตำแน่งการตลาดของธุรกิจ
หรือการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ อาทิ ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ที่นักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ การบริการด้านต่างๆ อาจจะต้องปรับลดลง เช่น การบริการด้านอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะลดต้นทุนในการสต็อควัตถุดิบของสด โดยหาพันธมิตรร้านอาหารใรชุมชนที่มีคุณภาพมาให้บริการลูกค้า หรือร้านขายสินค้าของที่ระลึกร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจกิจโรงแรมและที่พักในการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวสามารถสั่งสินค้าออนไลน์และจัดส่งได้ถึงที่พัก เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 63)
Tags: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กสิกรไทย, ธุรกิจท่องเที่ยว, ธุรกิจโรงแรม, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ไทยเที่ยวไทย