นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้ความเห็นกับ “อินโฟเควสท์”หลังจากมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วานนี้อนุมัติหลักการแผนแก้ไขปัญหาของ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่ผ่านการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังมาแล้ว โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงต้นเดือน พ.ค.
นายกิจพณ มองว่า ผลการประชุม คนร.รอบนี้ ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เป็นเพียงอนุมัติหลักการผ่อนคลายเงื่อนไขเพื่อให้ THAI สามารถกู้เงินได้ เพราะตามเงื่อนไขปกติหากรัฐวิสาหกิจใดขาดทุนเกิน 3 ปีจะไม่สามารถกู้เงินได้ ประกอบกับ อนุมัติในหลักการให้กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้กับ THAI ให้สามารถหาแหล่งเงินกู้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องระยะสั้นได้
แม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางเข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่องระยะสั้นให้กับ THAI ในช่วงที่ได้รับผลกระทบวิกฤติเชื้อโควิด-19 แต่ต้องยอมรับว่าสถานะการเงินของ THAI มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว เพราะงบการเงินสิ้นปี 62 มีส่วนผู้ถือหุ้นประมาณ 11,659 ล้านบาท และเบื้องต้นประเมินว่าช่วงครึ่งปีแรกรายได้ของ THAI จะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากไม่สามารถเปิดให้บริการสายการบินได้
ดังนั้น จึงมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่ผลประกอบการโดยรวมของ THAI ในครึ่งปีแรกเสี่ยงขาดทุนหนักมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นผลกระทบเชิงลบซ้ำเติมให้ส่วนผู้ถือหุ้น THAI มีโอกาสติดลบ ซึ่งตามเงื่อนไขของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบต้องเข้าข่ายอาจถูกพักการซื้อขายเพื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการตามกระบวนการ
“แม้ว่า 2 ปีที่ผ่านมา THAI จะดำเนินกิจการได้ตามปกติ แต่ผลประกอบการยังประสบปัญหาขาดทุนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ในวันนี้กำลังโดนผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้งบการเงินในครึ่งปีแรกมีความเป็นไปได้ว่าจะขาดทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่หากแย่ไปกว่านั้นผลประกอบการไตรมาสแรกขาดทุนมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท มีโอกาสเข้าข่ายต้องพักการซื้อขาย
เบื้องต้นมองว่าการบินไทยไม่น่าจะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็ว คิดว่าอาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน นอกจากนั้นแม้ว่าการบินไทยจะมีเงินกู้ระยะสั้นเข้ามาเสริมสภาพคล่อง แต่มองว่าไม่ได้ช่วยให้ส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้ เพียงแค่นำเงินกู้มาใช้จ่ายชำระหนี้และเงินเดือนพนักงานเท่านั้น เพราะส่วนผู้ถือหุ้นถ้าจะกลับมาเป็นบวกคือต้องเกิดจากการยกระดับศักยภาพของกิจการให้กลับมาทำกำไรได้ตามปกติ”นายกิจพณ กล่าว
นายกิจพณ กล่าวอีกว่า ราคาหุ้นสายการบินฟื้นตัวอย่างร้อนแรงในรอบนี้มองเป็นแค่ Money Game เท่านั้นเกิดจากแรงเก็งกำไรหลังจากราคาหุ้นสายการบินหลายรายลดลงต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีไปมาก และคาดหวังมาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐบาล แต่ในระยะยาวยังคาดเดาได้ยากว่าผลประกอบการจะพลิกกลับมาฟื้นตัวชัดเจนเมื่อใด เพราะวิกฤติโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางและการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วโลก
นอกจากนั้น แม้ว่าต้นทุนราคาน้ำมันลดลงมามาก แต่ธุรกิจสายการบินมักจะทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้แล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนน้ำมันถูกล็อกไว้ในระดับสูง ดังนั้น กว่าที่ธุรกิจสายการบินจะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันลดลงอาจเป็นปีหน้าเป็นต้นไป
“นักลงทุนที่เข้าไปเทรดหุ้นสายการบินอยากเตือนให้ระวังเพราะเป็น Money Game ควรกำหนดจุดตัดขาดทุนหรือล็อกจุดขายทำกำไรให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะขาดทุนได้” นายกิจพณ กล่าว
“อินโฟเควสท์” รวบรวมข้อมูล THAI เริ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ค.34 ด้วยทุนจดทะเบียน 13,000 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ได้ทยอยเพิ่มทุนใหม่มาตลอด และในปีล่าสุดทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมาเป็น 26,989 ล้านบาท
ปัจจุบัน THAI มีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท และมีหนี้สินประมาณ 244,899 ล้านบาท
แม้ว่าในช่วงต้นปี 62 THAI จะล้างขาดทุนสะสมทั้งหมดไปแล้วเป็นมูลค่ากว่า 26,300 ล้านบาท ด้วยวิธีนำส่วนเกินของมูลค่าหุ้นและทุนสำรองตามกฎหมายโอนมาชดเชยผลขาดทุนสะสมทั้งหมด แต่จากผลประกอบการที่ย่ำแย่มาโดยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ส่งผลให้งบการเงินงวดล่าสุด ณ สิ้นปี 62 ทำให้พลิกกลับมามีผลขาดทุนสะสมอีกครั้งสูงกว่า 19,300 ล้านบาท
ตามรายงานข้อมูลงบการเงินงวดล่าสุด ณ สิ้นปี 62 พบว่า THAI มีหนี้สินกับสถาบันการเงินและหนี้เป็นภาระผูกพันผ่อนชำระค่าเช่าเครื่องบินเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นหนี้กู้ยืมระยะสั้นเป็นจำนวน 62,188 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ตั๋วสัญญาใช้เงินกับสถาบันการเงินต่างๆรวม 21,500 ล้านบาท
- เป็นวงเงินที่บริษัทออกจำหน่ายหุ้นกู้จำนวน 18,788 ล้านบาท
- วงเงินสินเชื่อระยะสั้น ประเภท Committed Credit Line จำนวน 13,500 ล้านบาท
- วงเงินประเภท Uncommitted Credit Line จำนวน 8,400 ล้านบาท
ขณะที่หนี้ระยะยาวจำนวน 23,288 ล้านบาท ประกอบด้วย
- เงินกู้ยืมจากต่างประเทศสกุลเงินยูโรผ่านกระทรวงการคลังจำนวน 11,977 ล้านบาท
- เงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สกุลเงินเยนจำนวน 437 ล้านบาท
- เงินกู้ยืมภายในประเทศจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆจำนวน 10,873 ล้านบาท
ล่าสุด THAI ฝูงบินที่ใช้ในการดำเนินกิจการ 103 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินของบริษัท 32 ลำ และเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน 32 ลำ และเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงานอีก 39 ลำ แต่เงื่อนไขตามเอกสารรายงานระบุว่ายังมีเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงานอีกจำนวน 3 ลำที่อยู่ระหว่างรอรับมอบในช่วงถัดไป
ทั้งนี้ บริษัทได้ประเมินภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามสัญญาเช่าดำเนินงานรวมทั้ง 42 ลำ คิดเป็นเงินกว่า 108,818 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าที่ต้องจ่ายภายใน 1 ปี เป็นวงเงิน 13,418 ล้านบาท , เกิน 1 ปีจนถึง 5 ปี เป็นวงเงิน 56,815 ล้านบาท และ เกินกว่า 5 ปี เป็นวงเงิน 38,584 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 63)
Tags: THAI, การบินไทย, กิจพณ ไพรไพศาลกิจ, คนร., ยูโอบี เคย์เฮียน, รัฐวิสาหกิจ, สภาพคล่อง, สายการบิน, หุ้นไทย, แผนฟื้นฟูกิจการ