ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.63 หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรง หลังหลายประเทศ รวมถึงไทยประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและราคาน้ำมัน สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวตามปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่อ่อนแอลง และมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น
ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่หดตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นสอดคล้องกัน มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวตามการทยอยเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับไปในทิศทางที่แย่ลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัวสูง ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น และรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน
อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนมี.ค. 63 หดตัวรุนแรงที่ 76.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงในทุกสัญชาติ จากผลของการประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศรวมถึงไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงมากส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 2.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกจะหดตัวที่ 6.5% โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าลดลงมาก ประกอบกับราคาส่งออกหดตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
อย่างไรก็ดี การส่งออกในบางหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลง ทั้งในด้านรายได้ การจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้งเป็นผลจากมาตรการควบคุมและความกังวลต่อโรค โควิด-19 ซึ่งทำให้การเดินทางและการใช้จ่ายนอกบ้านลดลง โดยมีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวได้ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลงต่อเนื่องตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น
ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาขยายตัว 4.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวสูงในเดือนก่อนหน้า หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ตามการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน จากการผ่อนคลายมาตรการการปิดเมือง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าบางกลุ่มกลับมาขยายตัว ประกอบกับการนำเข้าน้ำมันดิบขยายตัว ตามคำสั่งซื้อที่ตกลงไว้ก่อนการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนยังคงหดตัว สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ตามการทยอยเบิกจ่ายภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 เป็นหลัก โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับไปในทิศทางที่แย่ลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.60 จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัวสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดยังคงเป็นบวกแต่ปรับลดลงจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น และรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/63 หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุปสงค์ทั้งต่างประเทศและในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง ด้านการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่อง เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงตามรายได้และความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงมาก โดยมีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าจำเป็นที่ยังขยายตัวได้ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563
ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสอดคล้องกัน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่เป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางเพิ่มขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 63)
Tags: BOT, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ผลกระทบโควิด-19, เศรษฐกิจไทย, โควิด-19