น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เปิดเผยว่า ในวันนี้ คณะกรรมการกำกับกองทุน BSF ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุน BSF ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุน BSF
ทั้งนี้ กองทุน BSF จะมีคณะกรรมการ 2 ชุดเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุน โดยชุดแรก คือ คณะกรรมการกำกับกองทุน (Steering Committee : SC) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนการคัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, Trustee และผู้สอบบัญชี โดยคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
ส่วนชุดสอง คือ คณะกรรมการการลงทุน ทำหน้าที่คัดเลือกตราสารหนี้ภายใต้กรอบการลงทุนที่ SC กำหนด, คัดเลือกที่ปรึกษา และรายงานผลการดำเนินงานให้ SC รับทราบทุก 3 เดือน โดยคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ธปท., กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
น.ส.วชิรา กล่าวว่า สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุน BSF จะลงทุนได้นั้น ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน นอกจากนั้น ต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade เช่นเดียวกัน อีกทั้งบริษัทดังกล่าวต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวต้องมีปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว แต่มีแนวโน้มที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง รวมทั้งมีแผนการจัดเงินทุนในอนาคตชัดเจน และที่สำคัญจะต้องมีหนังสือรับรองว่าจะไม่ถูกสถาบันการเงินลดวงเงินสินเชื่อเดิม หรือเรียกหนี้คืนก่อนกำหนดตลอดช่วงที่กองทุน BSF ลงทุน
ทั้งนี้ ตราสารหนี้ที่เข้าร่วมนี้ จะต้องเป็นตราสารหนี้ที่มียอดคงค้างก่อนวันที่ 19 เม.ย.63 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มจัดตั้งกองทุน BSF มีวันครบกำหนดไม่เกิน 31 ธ.ค.64 และต้องเป็นตราสารหนี้ที่เสนอขายทั่วไป ทั้งนี้ไม่รวมตราสารหนี้และตั๋วเงินที่ขายในวงจำกัดต่ำกว่า 10 คน
“วันนี้เป็นวันแรกที่กองทุน BSF เริ่มเปิดให้ความช่วยเหลือ ซึ่งคณะกรรมการลงทุน (Investment Committee : IC) ได้คัดเลือกให้ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เข้ามาทำหน้าที่ลงทุนตามมติของ IC, รายงานการปรับเครดิตเรทติ้ง หรือแนวโน้มเรตติ้งของตราสารหนี้ที่ BSF ลงทุน ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ในกระบวนการยื่นขอรับความช่วยเหลือ สามารถเข้าไปดูได้ตั้งแต่วันนี้ ที่เว็บไซต์ของ KTAM ในหมวดกองทุนรวม” น.ส.วชิราระบุ
น.ส.วชิรา กล่าวถึงรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF ว่า จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน ด้วยต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF ที่สูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
นอกจากนี้ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น แต่หากยังไม่ได้ดำเนินการไถ่ถอน ให้นำเงินไปฝากไว้ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow account) และเตรียมวางแผนจัดหาเงินทุนในระยะยาว แต่ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล เว้นแต่จะได้ประกาศจ่ายก่อนวันที่ 29 เม.ย.63 และห้ามนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ ณ วันที่ออกหุ้นกู้ขายให้กองทุน BSF ไปวางเป็นประกันเพิ่มเติมแก่เจ้าหนี้อื่นระหว่างได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลที่ดี
สำหรับบริษัทที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF สามารถยื่นขอต่อเลขานุการคณะกรรมการลงทุน โดยระบุเหตุผลความจำเป็นในการขอรับความช่วยเหลือ พร้อมเอกสารตามที่กำหนดก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน
“การจัดตั้งกองทุน BSF ดังกล่าว เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น เปรียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ เป็นการเตรียมความพร้อมให้มี last resort ในการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยไม่ได้ช่วยทั้งหมดหรือช่วยทุกรายที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ถ้ามีคนมาใช้น้อยก็จะยิ่งดี เพราะหมายความว่า ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ” น.ส.วชิรา ระบุ
ทั้งนี้ สำหรับระยะเวลาสิ้นสุดที่กองทุน BSF จะให้ความช่วยเหลือ คือ วันที่ 31 ธ.ค.64 หรือมียอดคงค้างการลงทุนใน BSF ครบ 4 แสนล้านบาท แล้วแต่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งจะถึงก่อน
น.ส.วชิรา กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยในปัจจุบันว่า ประชาชนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงนั้นประชาชนขาดความมั่นใจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศเช่นกัน จึงทำให้มีความต้องการถือเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า
ทั้งนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีแนวโน้มจบลงอย่างไร ซึ่งการแพร่ระบาดยังคงลุกลามอยู่ในหลายประเทศก็จะยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน แต่อย่างน้อยประชาชนหรือผู้ลงทุนยังสามารถมั่นใจได้ว่าทางการได้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องสภาพคล่องให้
“ช่วงเดือนมี.ค.คนเริ่มไม่มั่นใจ คนอยากกอดเงินสดเอาไว้หรือถือพันธบัตรรัฐบาลไว้ เพราะไม่รู้สถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะล็อกดาวน์นานแค่ไหน…แต่ปัจจุบันนักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในระดับปกตินัก ซึ่งกองทุน BSF เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนว่าถ้าเป็นบริษัทที่ดี มีผลการดำเนินงานดี แต่อาจขาดสภาพคล่องชั่วคราว กองทุน BSF จึงเข้ามาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้” น.ส.วชิราระบุ
ส่วนกรณีที่มีการระบุใน พ.ร.ก.ว่าหากการดำเนินการดังกล่าวเกิดความเสียหาย จะให้กระทรวงการคลังชดเชยให้แก่ ธปท.ในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาทนั้น น.ส.วชิรา ชี้แจงว่าวงเงินชดเชยความเสียหายที่ระบุไว้ที่ 40,000 ล้านบาทเป็นการประเมินไว้ล่วงหน้า แต่หากความเสียหายมีมากกว่านี้หรือสถานการณ์ข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงไป ธปท.และกระทรวงการคลังคงต้องมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง
น.ส.วชิรา กล่าวถึงสถานการณ์การออกตราสารหนี้ในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย.ว่า ยังมีระดับใกล้เคียงกับในเดือนก่อนๆ แต่ผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มี credit rating อยู่ในกลุ่ม A- ขึ้นไป ขณะที่กลุ่ม credit rating BBB+ ลงมามีการออกตราสารหนี้ลดลง เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมีความกังวลในฐานะการดำเนินงานของบางบริษัท ทำให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนได้เต็มจำนวน อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการประกาศมาตรการกองทุน BSF นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ซื้อขายในตลาดรองมีความผันผวนลดลง
ขณะที่ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. มีหุ้นกู้ครบกำหนดรวมกันประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่มี credit rating สูงกว่า A- ขึ้นไปประมาณ 68% ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดทั้งหมด และเป็นกลุ่ม BBB+ ถึง BBB- ประมาณ 22% ซึ่ง ธปท. จะมีการติดตามสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้จะการ rollover ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงเดือน พ.ค.- ธ.ค.63 รวมทุกประเภทธุรกิจ ประมาณ 670,000 ล้านบาท แยกประเภทธุรกิจหลักๆ ได้ดังนี้ ธนาคารและสถาบันการเงิน 220,000 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ 115,000 ล้านบาท, อาหาร 65,000 ล้านบาท และ พลังงาน 59,000 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวโน้มต้นทุนการออกหุ้นกู้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนบางกลุ่มอาจปรับลดลง เช่น กองทุนประกันสังคม เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการชดเชยการว่างงาน หรือประชาชนทั่วไป ที่อาจมีรายได้ลดลง ส่งผลให้มีเงินออมลดลง
“แม้ว่าขนาดของกองทุนที่ตั้งไว้จะมีขนาด 400,000 ล้านบาท แต่ในเบื้องต้น คาดว่าความต้องการใช้เงินกองทุนจะไม่ได้สูงมาก เนื่องจากหลายบริษัทยังสามารถระดมทุนได้เอง ซึ่งหากระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ได้ไม่ครบทั้งจำนวน หลายบริษัทก็ยังมีช่องทางในการกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ กองทุน BSF จึงน่าจะเป็นช่องทางสุดท้ายที่บริษัทจะเลือก เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมจากกองทุน BSF จะสูงกว่าที่บริษัทจัดหาด้วยตัวเอง” น.ส.วชิรา กล่าว
พร้อมคาดว่า ความต้องการในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภายใต้ความผันผวนจากเหตุการณ์โควิด-19 อาจส่งผลให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนจากตลาดนี้ได้เหมือนช่วงก่อนเกิดสถานการณ์ แต่หากในอนาคตสถานการณ์ดีขึ้น ธุรกิจต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ คาดว่าการระดมทุนจะปรับดีขึ้นตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 63)
Tags: BSF, กองทุน, ตราสารหนี้, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., วชิรา อารมย์ดี