นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การจำกัดโรคไวรัสโควิด-19 ให้หมดไปคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา และต้องใช้เงินลงทุนอีกมาก เพราะยังพบผู้ป่วยประปราย ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับต่ำที่โรงพยาบาลสามารถรักษาดูแลได้
“เราคงต้องอยู่ในสถานการณ์อย่างต่อไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าเราจะมีวัคซีนใช้…โรคนี้หยุดได้สองแบบคือ มีคนได้รับวัคซีนมากพอ กับอีกแบบคือมีคนติดเชื้อมากพอ โรคก็จะชะลอตัวไป เราคงไม่อยากจบแบบมีคนติดเชื้อมากพอ”
นพ.ธนรักษ์ กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้เหมือนช่วงที่มีการแพร่ระบาดในวงจำกัดก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างได้อีก กระทรวงฯ ได้กำหนดแนวทางจัดการปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาแพร่ระบาดต่อเนื่องอีกครั้งหลังสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจากการที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่บ้างแสดงว่ามีผู้ป่วยที่หลบซ่อนอยู่ในชุมชนและยังไม่ได้รับการรักษา
“ความเสี่ยงในระยะต่อไปคือ ความสามารถในการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ถ้าทำได้ดีจำนวนผู้ป่วยก็จะน้อย”
นพ.ธนรักษ์ กล่าว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากนี้ไปจะต้องมีมาตรการเฝ้าระวังมากขึ้นไปยังกลุ่มที่แสดงอาการน้อย มีมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หากแสดงอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เพื่อเป็นการตัดวงจรการแพร่โรคที่มีประสิทธิภาพสูง, กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุ, การดูแลสุขภาพจิต, การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล, การเตรียมความพร้อมระบบการจัดการภาวะฉุกเฉิน
ขณะเดียวกันจะต้องมีเสริมความรอบรู้ เช่น การปฏิบัติตัวหากไม่ป่วย การป้องกันตัวหากใช้รถสาธารณะ การปฏิบัติตัวในที่ทำงาน การรักษาสุขอนามัยส่วนตัว การรักษาระยะห่าง เพื่อลดความแออัดของพื้นที่สาธารณะ, เพิ่มสัดส่วนการทำงานจากที่บ้านของภาครัฐให้ได้ 70%, การปรับวิธีเรียนรู้ทางออนไลน์, การเหลื่อมเวลาทำงาน, การส่งเสริมการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายต้องร่วมมือและเร่งรัดจัดการ เพราะมาตรการทางด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้นมากขึ้น
“ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีการแพร่ระบาดถึงขั้นวิกฤต คือมีผู้ป่วยจนเกินศักยภาพของโรงพยาบาลที่จะรองรับ เนื่องจากเรามีมาตรการค้นหาผู้ป่วยในชุมชนเชิงรุกโดยอาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยา เช่น หากมีการแพร่ระบาดคงพิจารณาเป็นรายพื้นที่ ไม่ดำเนินมาตรการโดยเหมารวมไปทั้งประเทศ”
สำหรับแนวทางป้องกันการแพร่เชื้อในโรงเรียน ที่จะเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค.นี้นั้น นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า คงจะต้องมีการหารือร่วมกันอย่างจริงจังอีกครั้งก่อนเปิดเทอม เพราะเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน และมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเด็กที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการไม่มาก ดังนั้นโรงเรียนจะต้องมีระบบการจัดการที่ดี เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังครูและผู้ปกครอง ขณะที่หน่วยราชการที่ให้บริการประชาชนต้องถือโอกาสออกแบบระบบงานใหม่เพื่อให้ระยะเวลาที่ประชาชนจะต้องรอสั้นลง และลดความแออัด
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไว้ก่อนหากมีโอกาส เพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยในเบื้องต้นไว้ก่อน ส่วนสถานประกอบการก็ต้องมีระบบคัดกรองที่เข้มข้น เช่น กรณีที่พนักงานมีอาการป่วยต้องให้หยุดงานโดยไม่คิดเป็นวันลา เพราะไม่เช่นนั้นจะฝืนมาทำงานแล้วส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ธนรักษ์ ผลิพัฒน์, วัคซีน, สธ., สาธารณสุข, โควิด-19, ไข้หวัดใหญ่