ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม. ที่มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครช่วงเช้าวันนี้ ได้มีการหารือวางแนวทางผ่อนปรนสถานประกอบการ อาทิ ร้านอาหาร ตลาด และตลาดนัด ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สถานที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะ เป็นต้น เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ภายใต้การปฎิบัติตามเงื่อนไขด้านสาธารณสุข ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการในกรอบใหญ่ในวันนี้ เพื่อกำหนดรายละเอียดต่อไป
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม. กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) กทม.ว่า กทม.เตรียมการเพื่อออกมาตรการผ่อนปรนให้เปิด 8 ประเภทสถานที่จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.นี้
มาตรการที่กทม. พิจารณาในการผ่อนปรนสถานที่ต่างๆ ได้พิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ความเสี่ยงของกิจกรรมและความจำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งการผ่อนปรน 8 สถานที่ คงไม่ใช่กลับมาทำได้แบบปกติ แต่ต้องมีมาตรการควบคู่ ประกอบด้วย
1.ร้านอาหารและเครื่องดื่ม จะมีการกำหนดรายละเอียดของมาตรการผ่อนปรนในวันพรุ่งนี้ หลักการคือ นั่งทานได้ แต่ไม่ไช่แบบปกติ ต้องเว้นระยะห่าง 1.5 -2 เมตร ไม่มีการหันหน้าไปทางเดียวกัน แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปต้องเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติพิจารณาก่อนว่าเห็นชอบหรือไม่ อาจมีการเปลี่ยแปลงได้ และไม่ให้นั่งทานแอลกอฮอล์ แต่ซื้อกลับบ้านได้
“ร้านอาหารที่พิจารณาในช่วงแรก คือ ร้านนอกห้างสรรพสินค้า ในห้างให้ขายแบบ Take Away ได้ เพราะทางการแพทย์ยังไม่อยากให้ไปรวมตัวให้ห้าง ส่วนในห้างขายแบบ Take Away ได้เหมือนเดิม…ส่วนการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบื้องต้น เราได้มีคำสั่งงดขายถึง 30 เม.ย.นี้ คณะกรรมการฯ ไม่ได้พิจารณาขยายเวลา แต่หากมีคำสั่งของประเทศอาจมีการพิจารณาเพิ่มเติม”
โฆษก กทม. กล่าว
2.ตลาดสด และตลาดนัด มีการเปิดขายอาหารสด ดอกไม้ ต่อไปจะมีมาตรการควบคุมตลาดให้เข้มข้นมากขึ้นและเปิดเต็มรูปแบบ และอาจสามารถขายสินค้าบางอย่างเพิ่มเติมได้ เช่น กิฟท์ช้อป
3.ร้านตัดผม หรือร้านเสริมสวย หลักการเดียวกัน มีการบริการแค่ 3 อย่าง ตัด สระ ไดร์เท่านั้น และต้องเปิดเป็นรอบ ซึ่งระยะเวลาแต่ละรอบจะมีการพูดคุยในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง แต่หลักการคือแต่ละรอบต้องมีเวลาหยุดพักเพื่อทำความสะอาด เพราะร้านมีเครื่องปรับอากาศ ต้องปล่อยให้อากาศถ่ายเทได้ ส่วนมาตรการายละเอียดจะแถลงพรุ่งนี้เช่นกัน
4.โรงพยาบาล คลีนิก และสถานพยาบาลบางประเภท มีหลายแห่งที่ต้องปิดไป แต่จะไม่รวมคลีนิคควบคุมน้ำหนัก เสริมสวย ซึ่งเป็นคลินิกเฉพาะที่จะมีการพิจารณาในอนาคตแต่ไม่ใช่ในครั้งนี้
5.สนามกอล์ฟ มีกิจกรรมกีฬาที่คนเล่นค่อนข้างจะห่างกัน มีการจ้างลูกจ้างค่อนข้างมาก กทม.ได้พิจารณาว่าคงสามารถควบคุมได้หากมีมาตรการเข้มข้น ทำให้คนกลับมาทำงานได้ จะทำการพิจารณาและเสนอแนะคณะกรรมการโรคติดต่อในวันพรุ่งนี้
6.สนามกีฬา ชนิดมีการเว้นระยะห่าง ยกตัวอย่างไม่ใช่ทั้งหมด เช่น แบดมินตัน เทนนิส กีฬาที่มีการเว้นระยะห่าง ยิงปืน มีการสัมผัสน้อย หายใจรดกันน้อย จะมีการพิจารณาให้ รายละเอียดว่ากีฬาอะไรบ้างจะมีการระบุในวันพรุ่งนี้
7.ร้านตัดขนสุนัข คงจะใช้หลักการเดียวกับร้านตัดผม จะมีมาตรการในการควบคุม ร้านตัดขนมองว่ามีความเสี่ยงน้อย แม้จะพบเคสจากคนสู่สัตว์ แต่จากสัตว์สู่คน ยังไม่เจอในโรคนี้ ถ้ามีมาตรการควบคุมจะใช้ชีวิตได้ปกติ
8.สวนสาธารณะ จะมีมาตรการเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นเข้า-ออกทางเดียว การเว้นระยะห่าง แต่ต้องไม่ใช่จับกลุ่มพูดคุยกัน ทำอาหารกินกัน
“ทั้งหมด 8 สถานที่ คือ หลักการที่จะเปิด แต่ทำไมไม่แถลง เพราะกลัวการสับสนที่อาจจะเกิดได้ เพราะต้องขึ้นกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคณะกรรมการโรคติดต่อ ส่วนมาตรการจะแถลงพรุ่งนี้ที่ทาง ศบค.อย่างละเอียด แต่ละร้านต้องทำอย่างไร มีการอธิบายรายละเอียดเป็นเอกสาร”
โฆษก กทม. กล่าว
โฆษก กทม. กล่าวว่า คำสั่งหรือข้อกำหนดของกทม.ที่ออกมา จะมีผลวันที่ 1 พ.ค.แน่นอนสถานที่ที่จะให้มีการปิดต่อ เช่น ผับ บาร์ เพราะเป็นสถานที่เสี่ยง ส่วนสถานที่ใดที่สามารถเปิดได้ให้รอผลประชุมคณะกรรมโรคติดต่อฯพิจารณาก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, LockDown, กทม., พงศกร ขวัญเมือง, ล็อกดาวน์, โควิด-19