ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ออกคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 219/2563 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2563 “แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2563” ให้แต่งตั้งข้าราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูล
กรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วน เป็นการชั่วคราวพร้อมรับรองผลการตรวจสอบ และรายงานต่อสำนักงานประกันสังคมโดยเร็ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง และผู้ประกันตน ตามนโยบายจ่ายสิทธิประโยชน์เงินว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะจ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถูกให้หยุดงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งคาดการณ์ว่าออกคำสั่งนี้ จะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่วินิจฉัยได้เป็นจำนวนกว่า 1,200 ราย และจะสามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ภายหลังรับทราบปัญหาความล่าช้าในการจ่ายเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม หลังมีผู้ประกันตนแห่ลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยมากกว่า 1.5 ล้านคน แต่จ่ายเยียวยาได้แค่ 1.2 แสนคน
ประกอบกับนายจ้างอีกเกือบ 3 แสนคน ยังไม่รับรองการหยุดงานของลูกจ้างกับสำนักงานประกันสังคม จึงทำให้ยังไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาในส่วนนี้ได้ ทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยว่างงานรู้สึกไม่พอใจในความล่าช้าที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินในการดำรงชีวิตอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์ที่ต้องหยุดงานไม่มีรายได้
สำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์เงินว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยจะจ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถูกให้หยุดงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 62% ของค่าจ้างโดยกำหนดอัตราชดเชยไว้สูงสุดไม่เกิน 9,300 บาท จนกว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง แต่ไม่เกิน 90 วัน พบว่าติดปัญหาล่าช้าจากการตรวจสอบสิทธิ เนื่องจากมีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการตรวจวินิจฉัยสิทธิ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงแรงงาน, ประกันสังคม, ผู้ประกันตน, ว่างงาน, เงินเยียวยา, เยียวยาผลกระทบโควิด-19, โควิด-19