TACC ลดเป้ารายได้ปีนี้ลงเหลือแค่ทรงตัว ปรับกลยุทธ์เน้น ALL Cafe

พร้อมหาช่องโตนอกเซเว่นฯ

นางจิรพรรณ คชฤทธิ์ชูแสง รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ (TACC) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์”ว่า บริษัทปรับลดเป้าหมายรายได้ในปีนี้ลงมาเหลือทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน จากเดิมที่คาดจะเติบโตได้ 10-15% และจากปีก่อนมีรายได้อยู่ที่ 1,529.96 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายปรับตัวลดลง

ขณะที่ธุรกิจผลิตเครื่องดื่มในโถกดมียอดจำหน่ายลดลง เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคที่เข้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 น้อยลง หลังประชาชนเก็บตัวอยู่บ้านในช่วงโควิด-19 รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว ทำให้ต้องปิดร้านตามระยะเวลาที่ทางการกำหนด ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์มาเน้นเครื่องดื่ม ALL Cafe มากขึ้น โดยได้ออกเครื่องดื่มใหม่ ได้แก่ Fruit Tea สกัดจากใบชาสดหอมกลิ่นผลไม้ และเครื่องดื่ม Mango Splash ถือเป็นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ตามแผนที่วางไว้

พร้อมกันนั้น ยังชะลอการขยายธุรกิจคาแรคเตอร์ไปในตลาดต่างประเทศจนกว่าสถานการณืโคงิด-19 จะดีขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทเป็นตัวแทนดูแล Licensee ครอบคลุม 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, กัมพูชา, เมียนมา, ลาว และเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทวางแผนรุกตลาดเวียดนามเต็มที่ ขณะเดียวกันในประเทศไทยผู้ที่ได้รับ Licensee ไปจากบริษัทฯ ส่วนหนึ่งจำหน่ายผ่านหน้าร้าน หรือขายในห้างสรรพสินค้าก็ได้รับผลกระทบพอสมควร

“เราได้ปรับกลยุทธ์การขายในช่วงโควิด-19 โดยเน้นการขายผ่าน All Cafe มากขึ้น และลดในส่วนของเครื่องดื่มโถกด รวมถึงชะลอการขยายตลาดต่างประเทศของธุรกิจคาแรคเตอร์ ขณะเดียวกันได้เพิ่มอีกขาหนึ่ง คือ Operational Efficiency เนื่องด้วยเราขายได้น้อยลง ทำให้เรามีเวลามาดูหลังบ้านมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามจาก 3 ธุรกิจหลัก เราก็ได้ลดการดำเนินงานลงไป 2 ขา และเน้นเพิ่มขึ้น อีก 2 ขา”

นางจิรพรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อกลับมาประกอบธุรกิจตามปกติภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย บริษัทจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ 4 ส่วน คือ ธุรกิจผลิตเครื่องดื่มโถกดให้เติบโตได้ตามเดิมจากการเน้นทำโปรโมชั่นร่วมกับสินค้าภายในร้าน 7-11 และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค แต่การเติบโตหลังจากคงไม่ได้อิงไปกับการขยายสาขาของ 7-11 มากนัก หลังกลยุทธ์ของผู้ประกอบการร้าน 7-11 เปลี่ยนไป แต่ยังคงออกเครื่องดื่มใหม่ใน ALL Cafe อย่างต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจคาแรคเตอร์ ก็เตรียมที่จะเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศตามแผน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปี 64

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ของธุรกิจจากนี้ภาพน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยธุรกิจผลิตเครื่องดื่มในโถกดยังเป็นตัวสร้างรายได้หลักอยู่ แม้การเติบโตจะเป็นตัวเลขหลักเดียวมาตลอด ขณะที่เครื่องดื่มใน All Cafe แม้สัดส่วนรายได้ยังไม่มากนัก แต่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือเป็นตัวเลขสองหลัก เนื่องจากมีการเติบโตไปตามสาขาร้าน 7-11 และเทรนด์ของผู้บริโภคแปลงไปดื่มเครื่องดื่มชงสดมากขึ้น ส่วนธุรกิจคาแรคเตอร์ ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตเป็นเท่าตัว แต่ในปีนี้มองว่าน่าจะเห็นการชะลอตัวลง

ด้านการขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเข้าไปใน Cafe Business ล่าสุดบริษัทขายสินค้าประเภทท็อปปิ้งให้กับร้านกาแฟพันธุ์ไทย แม้ว่าปัจจุบันยอดขายยังไม่มากนัก เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามากระทบ แต่กลยุทธ์หลังจากนี้บริษัทจะหาสินค้าเพิ่มเติมเพื่อผูกกันในระยะยาว และให้ความสำคัญกับร้านที่มีอยู่แล้ว อย่าง ร้านแบล็คแคนยอน เป็นต้น

นางจิรพรรณ กล่าวว่า จากนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการวางแผนการจับจ่ายใช้สอยก่อนออกจากบ้านมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ได้มีการวางแผนมากนัก สิ่งที่บริษัทจะทำต่อไปคือ ทำอย่างไรให้สินค้าของ TACC ไปอยู่ในแผนการซื้อสินค้าของผู้บริโภค รวมถึงเข้าไปอยู่ในระบบดิลิเวอรี่ เช่น การออกแบบแพ็คเกจที่เหมาะสมกับแพลตฟอร์มนั้นๆ โดยปัจจุบันสัดส่วนดิลิเวอรี่เครื่องดื่มคิดเป็น 10% ของอาหาร ขณะที่บริการดิลิเวอรี่ของร้าน 7-11 ยังเป็นตัวเลขหลักเดียว ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการสร้างแบรนด์ให้เป็นไปในแนวทางดังกล่าว

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 คาดว่ารายได้น่าจะทำได้ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/63 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลต่อยอดขายพอสมควร และยังไม่มีวันหยุดสงกรานต์เหมือนทุกปี แต่ในแง่ของกำไรมองว่ายังไม่กระทบ จากการเน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) สูง และยังขายได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนสภาพคล่องทางการเงิน บริษัทยืนยันว่ายังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินสดในมือหลัก 100 ล้านบาท รวมถึงปีนี้ไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นเพียงการลงทุนเพื่อสนับสนุนการขายและการผลิตปกติที่จะใช้เงินไม่ถึง 10 ล้านบาท ขณะที่บริษัทยังคงดูแลพนักงานเป็นอย่างดี โดยให้ค่าครองชีพพิเศษเพิ่มเติมสำหรับพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน เพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าไฟ และพนักงานที่ทำงานโรงงานก็แจกหน้ากากอนามัย และสนับสนุนด้านต่างๆ ซึ่งจากนี้การทำงานของ TACC จะเป็นในรูปแบบการทำงานจากที่บ้าน 70% ต่อ 30% จนกว่าจะค้นพบวัคซีนป้องกันโรคระบาดดังกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top