นายอนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย คาดว่าการส่งออกไก่ในปี 2563 จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ปริมาณ 950,000 – 960,000 ตัน มูลค่ากว่า 111,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะคลี่คลายเร็วหรือช้า ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวกในตลาดจีน ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่คาดว่าปีนี้จะส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นอีก 35,000-40,000 ตัน
จากการประกาศรับรองโรงงานไก่อีก 7 แห่ง ทำให้มีโรงงานไก่ของไทยถึง 21 แห่งที่สามารถส่งออกไก่ไปตลาดจีนได้ ขณะที่สิงคโปร์ที่เป็นตลาดอันดับที่ 6 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การนำเข้าไก่ขยายตัวสูงถึงกว่า 10% และยังคงมีคำสั่งซื้อที่แน่นอนเข้ามาปกติ รวมทั้งมีสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการที่เคยเข้มงวดด้านการนำเข้า เพื่อให้มีปริมาณเนื้อไก่เพียงพอกับการบริโภค ป้องกันปัญหาการขาดแคลนอาหาร สะท้อนว่าตลาดไก่ยังสดใส และไทยพร้อมส่งออกอยู่ตลอดเวลารอเพียงออร์เดอร์ที่เข้ามาเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ในตลาดส่งออกอันดับ 1 อย่างญี่ปุ่น ที่มีปริมาณ 438,000 ตัน มูลค่า 59,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการนำเข้าไปสต็อกเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าจึงกำลังรอดูสถานการณ์ก่อน รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ที่เป็นตลาดอันดับ 2 ประมาณ 320,000 ตัน ก็ยังคงโควตาเดิม มูลค่า 33,800 ล้านบาท และยังรอการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิดอยู่ ส่วนตลาดอื่นๆ คาดว่ามีปริมาณ 196,000 ตัน มูลค่า 18,000 ล้านบาท
นายอนันต์ กล่าวว่า จากการร่วมประชุมกับ กระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มผู้ประกอบการด้านการผลิตไก่สดและแปรรูปของไทย พบว่าในวิกฤติโควิด-19 ยังคงมีโอกาสสำหรับสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยที่ยังคงเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ โดยพบว่าช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 นี้ การส่งออกไก่ของไทยมีการขยายตัวแล้วถึง 3-4% แม้จะมีอุปสรรคเรื่องการล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ จากปัญหาโควิด-19 ทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ แต่เชื่อว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น บางประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง จะทำให้ความต้องการบริโภคเริ่มกลับมา
นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวถึงประเด็นที่สมาคมผู้แปรรูปสัตว์ปีก (AVEC) สมาคมผู้ค้าสัตว์ปีกแห่งสหภาพยุโรป และสมาคมผู้เลี้ยงและฟักสัตว์ปีกแห่งสหภาพยุโรป (ELPHA) ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ปรับลดการนำเข้าไก่เนื้อจากบราซิล ไทย และยูเครน จำนวน 850,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาไก่ในประเทศโอเวอร์ซัพพลาย ว่าเรื่องนี้คณะกรรมาธิการยุโรปต้องมีการพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ และที่สำคัญจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันลูกค้าในตลาดนี้ได้ชะลอซื้ออยู่แล้ว เนื่องจากในยุโรปร้านอาหารต่างปิดตัวลงจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไทยส่งเข้าตลาด EU ลดลงอยู่แล้ว ตามความต้องการบริโภคที่ลดลงในช่วงนี้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลกับรัฐบาลที่จะต้องเจรจากันในการจำกัดหรือชะลอการนำเข้า เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ความต้องการย่อมลดลง เป็นปัญหาที่ทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 63)
Tags: Agro & Food Industry, ส่งออก, อนันต์ ศิริมงคลเกษม, เนื้อสัตว์, โรงงานไก่