นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาจากภาคธุรกิจ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์”ว่า FETCO นำเสนอรายละเอียดแนวทางการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ประเทศในส่วนภาคธุรกิจเรียงลำดับในจังหวัดและธุรกิจที่จะเปิดดำเนินการก่อนและธุรกิจที่เปิดดำเนินการหลังสุดให้กับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มีนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการพิจารณา
ตามข้อมูลที่มีการรายงานถึงการแบ่งโซนในจังหวัดและกลุ่มธุรกิจโดยเรียงลำดับตามความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทย ประกอบด้วย สีเขียว,สีเหลือง,และสีแดง ประกอบไปด้วย กลุ่มสีเขียวคือจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อและธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำไม่มีการชุมนุมของประชาชน สีเหลืองติดเชื้อปานกลางและธุรกิจที่มีความเสี่ยงรองลงมา และสีแดงติดเชื้อจำนวนมากและธุรกิจที่มีการชุมนุมของประชาชนจำนวนมาก
สำหรับรายละเอียดดังกล่าว FETCO เสนอแนะว่าควรให้มีการทำแอพพลิเคชั่นติดตามตัว ข้อดีของการให้ประชาชนลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นติดตามตัวคือช่วยป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่ เพราะหากเกิดขึ้นจริงรัฐบาลจะสามารถจำกัดพื้นที่ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจได้ดีกว่าในปัจจุบัน นอกจากนี้ ต้องให้ภาคธุรกิจที่ได้รับอนุญาตผ่อนปรนเปิดบริการจำเป็นต้องลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นเช่นกัน โดยให้แต่ละกิจการรับ QR Code ให้ผู้ที่เข้าใช้บริการแต่ละรายใช้สแกน QR Code ลงทะเบียนก่อนเข้าใช้บริการ เพื่อทราบประวัติการเข้าใช้บริการแต่ละสถานที่
ทั้งนี้ ขั้นตอนการผ่อนปรน Lockdown ได้นำเสนอให้ทดลองในวงจำกัด (Sandbox) เช่น พื้นที่บางจังหวัดและบางธุรกิจ เพราะหากผ่อนปรน Lockdown ทั้งประเทศอาจมีความเสี่ยงหากมาตรการควบคุมเกิดมีช่องว่างหรือไม่ครบถ้วน โดยอาจเปิดทดลองผ่อนปรน Lockdown ใน 2-3 จังหวัดก่อน แต่กรณีภาคธุรกิจที่เป็นประเภทสีเขียว ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดไหนก็ตามสามารถได้เสนอให้เปิดบริการได้ทั้งหมดเลย แต่ต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่ด้วย ส่วนกรณีธุรกิจประเภทสีเขียว แต่ให้บริการในพื้นที่จังหวัดที่เป็นสีเหลือง หรือจังหวัดสีแดง ต้องมีความเข้มงวดได้รับการดูแลจากภาครัฐเป็นกรณีพิเศษด้วย
“เรายื่นข้อเสนอไปคือให้ความสำคัญเรื่อง Sandbox อย่างมาก อาจทดลองเป็นพื้นที่สีเหลืองก็ได้เพื่อให้มีความเสี่ยงบ้าง ทดลองดูว่ามาตรการควบคุมมีประสิทธิภาพมากน้อยอย่างไร หรือเลือกบางธุรกิจทดลองเปิดให้บริการดูก่อน เบื้องต้นอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ในการทดลอง หากคิดว่ามาตรการต่างๆมีความครบถ้วนแล้วขั้นตอนต่อไปค่อยขยายผ่อนปรน Lockdown เป็นวงกว้างมากขึ้น”
นายไพบูลย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่อนปรน Lockdown แล้ว อีกแนวทางสำคัญคือการดูแลประชาชนในต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเสี่ยงการติดเชื้อรอบใหม่เบื้องต้นเชื่อว่าทางหน่วยงานที่รับผิดชอบคงมีแนวทางรับมือในประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว
ส่วนกรณีการขยายอายุการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯหรือไม่ นายไพบูลย์ ยอมรับว่า วามเห็นส่วนตัวไม่ได้กังวลหากรัฐบาลจะขยายอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯต่อไป รวมถึงการใช้มาตรการเคอร์ฟิว (ห้ามออกนอกเคหสถาน) ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางช่วยให้รัฐบาลบริหารสถานการณ์ได้คล่องตัว แม้ว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยจะน้อยลง แต่ยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดรอบใหม่ ซึ่งหลายๆประเทศใช้ความระมัดระวังที่จะผ่อนปรน Lockdown เหมือนกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 63)
Tags: FETCO, LockDown, ผ่อนปรน, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ไพบูลย์ นลินทรางกูร