ศูนยวิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ตลอดปี 63 หดตัวที่ 9.2% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี มีมูลค่าการส่งออกแตะระดับต่ำที่ 28,467 ล้านดอลลาร์ฯ จากกรอบประมาณการที่หดตัว 12.8% ถึงหดตัว 7.3% มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 27,325 – 29,000 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 กำลังการแพร่ระบาดอย่างหนักในสหรัฐฯ เป็นความเสี่ยงใหม่ที่กระทบการส่งออกของไทยตลอดปีนี้
โดยสถานการณ์โควิด-19 แม้จะทำให้สินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และสินค้าสนับสนุนกิจกรรม Work From Home (WFH) ยังมีโอกาสทำตลาดได้แต่ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออก ส่วนใหญ่ที่เป็นสินค้าขั้นกลางและสินค้าสำเร็จรูปในกลุ่มฟุ่มเฟือย และยังไม่จำเป็นต่อการใช้งานในเวลานี้ ประกอบกับสินค้าไทยบางรายกำลังถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ก็มีส่วนทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการทำตลาดได้ยากขั้นอีก รวมถึงสินค้าอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นก็พึ่งพาการใช้สิทธิ GSP ในการทำตลาดค่อนข้างมากก็ถูกตัดสิทธิไปหลายรายการเช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/63 การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ลุกลามมากในสหรัฐฯ ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะปกติ แม้จะหดตัว 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็มีภาพค่อนข้างดีกว่าการส่งออกไปญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่หดตัว 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ และถ้าหักการส่งออกยุทโธปกรณ์และรถถังเพื่อการซ้อมรบที่ทำให้มูลค่าการส่งออกผันผวน จะพบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวสูงถึง 15.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยส่วนหนึ่งสินค้าไทยได้อานิสงส์จากสงครามการค้า ทำให้สามารถส่งสินค้าไทยไปแทนที่สินค้าจีนในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาง (ยางล้อ) และไดโอด รวมทั้งสินค้าอื่นที่ตอบโจทย์การบริโภคก็ยังมีภาพที่เป็นบวกอยู่ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋อง
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 63 ยังมีความท้าทายเดิมที่รออยู่โดยในวันที่ 25 เม.ย.63 สินค้าไทยกำลังจะถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ซึ่งถ้าหากพิจารณาเฉพาะการตัดสิทธิ GSP จะกระทบต่อการส่งออกจำนวน 573 รายการที่ถูกตัดสิทธิเท่านั้น และไม่กระทบต่อภาพรวมของไทย เนื่องจากสินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ และเป็นเพียงสัดส่วน 4.1% ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ
แต่การตัดสิทธิ GSP ที่ทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นจากการที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ (MFN Rate) จากเดิมไม่ต้องเสียภาษีโดยสินค้าที่ถูกตัดสิทธิมีทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภค บริโภคและโดยเฉพาะสินค้าอาหารที่พึ่งพาสิทธิในการทำตลาดอันจะยิ่งทำให้สินค้าไทยทำตลาดในสหรัฐฯได้ยากขึ้น ในภาวะที่กำลังซื้อของสหรัฐฯ อ่อนไหวอย่างมากจากผลของโควิด-19
ในปัจจุบันสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯ ราว 60% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าสำเร็จรูปที่ล้วนเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของสหรัฐฯ ที่ซบเซาอย่างมาก ทำให้สินค้ากลุ่มนี้แทบจะไม่มีโอกาสทำตลาดได้เลยในช่วงที่เหลือของปีจากที่ในช่วงไตรมาส 1/63 ที่การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้หดตัว 12.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์สำหรับการเดินทาง ส่วนประกอบเครื่องจักร อีกทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการก็ถูกตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้ด้วย แม้ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไม่สูงแต่ก็ทำให้สินค้าไทยสูญเสียโอกาสทำตลาดมากขึ้นไปอีก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เซรามิก ยาง ล้อ มอเตอร์ไซด์รองเท้า กระเป๋าสาน ดอกไม้ประดิษฐ์ อุปกรณ์กีฬา
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ก็ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งกำลังซื้อของชาวอเมริกันที่ลดลง และธุรกิจที่เป็นปลายทางนำเข้าอาหารไทยก็ประสบวิกฤติไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารไทย โรงแรม และการท่องเที่ยว ประกอบกับในปัจจุบันการส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐฯ ราว 25% พึ่งพา GSP เป็นตัวช่วยในการทำตลาดสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวกำลังจะถูกตัดสิทธิไปถึง 1 ใน 3 โดยเฉพาะอาหารทะเลสด/แปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป สถานการณ์ข้างต้นไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้จากปัจจุบันขยายตัวที่ 12.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีสัดส่วนเพียงการส่งออก 10% ของการส่งออกไปสหรัฐฯโดยสินค้าส่งออกสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ข้าว ผักและผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง
ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ฉุดกำลังซื้อและการส่งออกสินค้ากลุ่มหลักของไทย แต่สินค้าจำเป็นในการต่อสู้กับโควิด-19 ก็ยังมีสัญญาณบวกที่น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/63 ที่ขยายตัว 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าเหล่านี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ จึงไม่มีแรงส่งเพียงพอที่จะขับเคลื่อนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 63)
Tags: ส่งออก, ส่งออกไทย, สหรัฐ, เศรษฐกิจสหรัฐ, เศรษฐกิจไทย, โควิด-19