หวังเพิ่มการขนส่งทางรางเป็น 30% ในปี 64
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกันพิจารณาแนวทางการพัฒนาการขนส่งทางรางและจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) รวมถึงตารางการดำเนินงาน ให้ชัดเจนภายใน 1 เดือน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ และการเพิ่มการขนส่งทางรางเป็น 30% ภายในปี 64
จากปัจจุบันที่การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ มีจำนวน 156 ขบวนต่อวัน โดยในปี 61 มีปริมาณการขนส่งสินค้า 10.2 ล้านตันต่อปี คิดเป็นเพียง 1% ของปริมาณการขนส่งทุกระบบ
สำหรับปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อปริมาณการนำเข้าส่งออก การแข่งขันด้านค่าใช้จ่าย และต้นทุนการขนส่งทางรางที่ต่ำกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น การขนส่งทางรางมีความปลอดภัยมากกว่า ตลอดจนการเพิ่มความถี่ในการให้บริการ
ทั้งนี้ รฟท.จะต้องมีการดำเนินการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 ติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถเป็นระบบ ETCS level 1(European Train Control System) ควบคุมการเดินรถและหยุดรถอัตโนมัติ (Automatic Train Protection System: (ATP)) สนับสนุนภาคเอกชนร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อเพิ่มความถี่และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาด และให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา เนื่องจาก Slot การใช้รางรถไฟยังมีเหลืออยู่ ซึ่งรฟท.จะต้องวางแผนใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนที่เหลือให้เอกชนมาร่วมเดินรถ ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากย่านกองเก็บตู้สินค้า(CY) พัฒนาบุคลากรรองรับการเดินรถ เป็นต้น
ส่วนการเดินรถโดยสาร ที่มี 244 ขบวนต่อวัน และมีแนวโน้มลดลงนั้น ในขณะที่พบว่าช่วงเทศกาล ปีใหม่ และสงกรานต์ ประชาชนยังคงนิยมใช้บริการรถไฟ แต่ในช่วงปกติกลับมีปริมาณการเดินทางลดลง ซึ่งจากสถิติการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารที่ใช้บริการ สะท้อนถึงประสิทธิภาพที่ต่ำลง โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถไฟไม่เป็นที่นิยมในการเดินทางของประชาชน มาจากสภาพรถที่เก่า มีอายุใช้งานมากกว่า 30 ปี ซึ่งเกิดจากปัญหาการขาดทุนสะสมของรฟท. ที่มีกว่า 1.6 แสนล้านบาท
ปัจจุบัน รถไฟมีระยะทางรวม 4,044 กิโลเมตร (กม.) ครอบคลุม 47 จังหวัด โดยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 781 กม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,094 กม. ภาคตะวันออก 534 กม. ภาคกลาง 65 กม. และภาคใต้ 1,570 กม.
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ที่ก่อสร้างเสร็จแล้วระยะทาง 293 กม. ได้แก่ 1. เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอบ ระยะทาง 106 กม. 2. เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะทางรวม 700 กม. ได้แก่ 1. เส้นทางมาบกะบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. 2. เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. 3. เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. 4. เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. 5. เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม.
โครงการที่อยู่ระหว่างประกวดราคา ระยะทางรวม 678 กม. ได้แก่ 1. เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของระยะทาง 323 กม. 2. เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม.
สำหรับแผนพัฒนาระยะที่ 2 มีระยะทาง 1,483 กม. จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ 1. ขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. 2. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม. 3. ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. 4. เด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. 5.ชุมพร-สุราษฏร์ธานี 168 กม. 6. สุราษฏร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กม. และ 7. ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 63)
Tags: กรมการขนส่งทางราง, กระทรวงคมนาคม, ขนส่งทางราง, รถไฟ, รถไฟทางคู่, รฟท., ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สนข.