นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมฯ ได้นำร่องทดลองนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา (Teleconsult) และการจ่ายยา (Telemedecine) ผ่านการรักษาทางไกลโดยใช้ VDO CALL ในโรงพยาบาลในสังกัด 27 แห่งทั่วประเทศ เป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว
ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข โดยวิธีการดังกล่าวช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลลงได้ราว 30% เพราะสามารถบริการให้คำปรึกษาได้เฉลี่ยวันละ 200 ราย และจัดส่งยาให้เฉลี่ยวันละ 363 ราย ซึ่งในระยะต่อไปจะขยายบริการออกไปยังสถานพยาบาลอื่นๆ ที่มีความพร้อม
“เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ลดการเดินทาง ไม่ต้องมาเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19”
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วิธีการดังกล่าวเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูก โรคระบบประสาท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการคงที่ และต้องการเพียงกินยาต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยที่มีความพร้อมสามารถติดต่อขอรับบริการได้เมื่อผ่านการประเมินจากแพทย์แล้วโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม นอกจากนี้จะมีการถ่ายโอนข้อมูลประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยเก็บไว้เอง เพื่อความสะดวกหากเปลี่ยนไปใช้ในสถานพยาบาลอื่นจะไม่เสียเวลาสอบถามประวัติการรักษา
ด้าน นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากความร่วมมือของประชาชนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ทำให้วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย ขณะที่จำนวนผู้ป่วยรักษาหายสามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้ว 2,490 ราย หรือคิดเป็น 87% ของผู้ป่วยทั้งหมด
ส่วนกรณีที่มีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่เขตบางเขนซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามมวยลุมพินีนั้นสามารถพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย เป็นชายอายุ 51 ปี เป็นพนักงานขับรถ ขสมก.ซึ่งได้ดำเนินการสอบสวนโรคผู้ที่สัมผัสอีก 4 คนแล้วไม่พบเชื้อ ปัจจุบันนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, การแพทย์, ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์, สธ., อนุทิน ชาญวีรกูล, อนุพงศ์ สุจริยากุล, โควิด-19, โรงพยาบาล