นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า มาตรการแจกเงินให้แก่เกษตรกร 5,000 บาทต่อเดือน จะต้องมีการเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณารูปแบบว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยจะใช้ฐานข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 เม.ย.63
“มาตรการแจกเงินเกษตรกร จะต้องนำเข้าหารือในคณะกรรมการกลั่นกรองก่อน เนื่องจากจะใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าโดยเร็ว อาจจะเป็นไปได้ว่าอาทิตย์หน้าเรื่องจะถึง ครม. ส่วนเงื่อนไขสุดท้ายจะเป็นอย่างไรนั้น ให้ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก่อน กระทรวงเกษตรฯ จะกำหนดวงเงินใช้งบประมาณจึงจะรู้ว่าตัวเลขเป็นอย่างไร คลังก็จะมากำหนดงบประมาณว่าต้องใช้เงินจากพ.ร.ก.ควรเป็นเท่าไร”
รมว.คลังกล่าว
พร้อมระบุว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจะยึดจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก เนื่องจากมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมาโดยตลอด จึงต้องเริ่มที่จุดนี้ก่อน
ส่วนเรื่องโครงการสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระแจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ผ่านการลงทะเบียนเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ดำเนินการไปแล้ว วันนี้ได้เข้าสู่การทบทวนสิทธิซึ่งจะเป็นกระบวนการต่อเนื่องไป ระยะเวลาการจ่ายเงิน 3 เดือน ส่วนวงเงินจะออกมาเท่าไรนั้น ขอให้การทบทวนสิทธิแล้วเสร็จก่อนจึงจะเห็นภาพชัด
รมว.คลัง ยืนยันว่า วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะเพียงพอดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกู้เงินเพิ่ม โดยในหลักการของ พ.ร.ก.สำหรับเยียวยา 6 แสนล้านบาท ถ้าไม่เพียงพอก็สามารถนำเงินบางส่วนจากพ.ร.ก.ในส่วนที่ใช้สำหรับฟื้นฟูอีก 4 แสนล้านบาทมาช่วยได้ตามความจำเป็น
ส่วนการชำระคืนหนี้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะยังไม่มีจำนวนเงินแน่ชัดว่าจะต้องกู้มาใช้เท่าไร อาจจะไม่กู้ถึง 1 ล้านล้านบาทก็เป็นได้ ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อยู่ระหว่างการเตรียมแผน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 63)
Tags: กระทรวงการคลัง, พ.ร.ก.กู้เงิน, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, หนี้สาธารณะ, อุตตม สาวนายน, เกษตรกร, เยียวยา