นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่จากการดูแลเรื่องสุขอนามัยส่วนตัวยังจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง และยังต้องระวังรักษาสุขภาพจิตไม่ให้เกิดความเครียดด้วย
โดยกรมสุขภาพจิตเตรียมเร่งเข้าไปดูแลปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน 4 กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่
- กลุ่มผู้กักกันและผู้ติดเชื้อ
- กลุ่มญาติของผู้กักกันและติดเชื้อ
- กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
- กลุ่มประชาชนทั่วไป
หลังมีผลสำรวจพบว่าประชาชน 51.85% มีความเครียดและความวิตกกังวล และจำนวนผู้ที่โทรมาขอคำปรึกษากับกรมสุขภาพจิตทางสายด่วน 1323 เพิ่มขึ้นจาก 20-40 รายในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.63 เป็น 600 รายในเดือน มี.ค.63 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 630 รายในเดือน เม.ย.63 โดยจะเข้าไปช่วยดูแลให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง ไม่วิตกกังวลเกินกว่าเหตุ
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมฯ ตั้งเป้าลดอัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะดูแลไม่ให้สูงเกินไปกว่าระดับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 2 ราย
“ความเครียดเป็นต้นทาง เครียดนานๆ จนเป็นโรคเศร้าซึม และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เราจะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการดูแลกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบไม่ให้สูงกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง”
นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
โดยกรมฯ ได้ออกแอพพลิเคชั่น Mental Health Check Up เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตัวเองในระดับหนึ่งก่อน หากใครพบว่ามีระดับความเครียดสูงก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์ หรือโทรสายด่วนมาปรึกษาที่หมายเลข 1323 ได้
สำหรับการเข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงนั้นจะใช้แนวทาง 4 สร้าง 2 ใช้ คือ สร้างความปลอดภัย สร้างความสงบ, สร้างความหวัง, สร้างความเห็นใจ, ใช้พลัง และ ใช้สายสัมพันธ์ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมามีคาถาที่จะช่วยให้ผ่านวิกฤตไปได้ คือ “อึด ฮึด สู้”
“เราต้องสร้างความหวัง คิดว่าสิ่งที่เผชิญอยู่คืออุปสรรคในการทดสอบ แม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากเราก้าวข้ามไปได้ก็ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นอุปสรรคได้อีกแล้ว” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประจำวันว่า แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยจะดีขึ้นแล้ว แต่ไม่อยากเห็นการกลับมาสู้โควิด-19 รอบที่ 2 ที่อาจก้าวกระโดด ดังนั้นขอให้ประชาชนยังคงปฏิบัติตนตามมาตรการสาธาณสุข และมาตรการทางสังคมอย่างเคร่งครัดต่อไปอีกสักระยะ งดการเดินทางที่ไม่จำเป็น งดการรวมกลุ่ม งดการสังสรรค์ หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด ให้สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ที่สำคัญให้เว้นระยะห่างระหว่างกัน 2 เมตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 63)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ฆ่าตัวตาย, ซึมเศร้า, สาธิต ปิตุเตชะ, สุขภาพจิต, อนุพงค์ สุจริยากุล, เครียด, โควิด-19