PTG วางกลยุทธ์ Macro-Micro รับมือผลกระทบโควิด-19

เชื่อทุกวิกฤติมีโอกาสใช้จังหวะทรานฟอร์มองค์กร

นายภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) กล่าวในประเด็น Human Capital Impact on Business Outcomes ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลักของ PTG โดยสถานีบริการน้ำมันได้รับผลกระทบจากคนอยู่บ้านกันมากขึ้น และการขนส่งข้ามจังหวัดมีอุปสรรคจากมาตรการล็อคดาวน์ทำให้ปริมาณเติมน้ำมันลดลง รวมถึงภาคการเกษตรขายสินค้าหรือส่งออกไม่ได้ก็มีผลต่อการใช้น้ำมันในภาคเกษตรที่ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม สถานีบริการน้ำมัน PT ยังเปิดให้บริการอยู่ แต่มีการกำหนดเวลาเข้าทำงานของพนักงาน ตามประกาศเคอร์ฟิว ส่วนธุรกิจร้านอาหาร ร้านกาแฟ ก็มีการปิดชั่วคราว แต่จะเป็นการให้บริการผ่านออนไลน์แทน โดยปัจจุบันบริษัทมีสถานีบริการน้ำมันอยู่ที่ 2,000 สถานี และมีธุรกิจร้านกาแฟพันธ์ไทย, ร้านสะดวกซื้อ max mart โดยรวมจะมีพนักงานทั้งสิ้นราว 15,000 คน

ทั้งนี้ หลังจากเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดดังกล่าว บริษัทได้วางกลยุทธ์ทั้งระดับ Macro และ Micro โดยระดับ Macro คือ องค์กร สิ่งแรกที่ทำคือ การงด หรือลดค่าใช้จ่าย ลดงบลงทุนทั้งหมดนำกลับมาทบทวนใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่ากระแสเงินสดของบริษัทมีเพียงพอต่อรองรับกับสถานการณ์ ส่วนระดับ Micro บริษัทยังคงดูแลพนักงานอย่างดีเพื่อให้ยังสามารถทำงานได้ รวมถึงการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย เช่น บริการฉีดฆ่าเชื้อทำงานสะอาดรถให้กับรถแท็กซี่

นายภูมิพัฒน์ กล่าวถึงคำแนะนำให้กับบริษัทอื่นว่า อันดับแรกต้องมีการวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจให้ถูกต้อง เนื่องจากผลกระทบในแต่ละธุรกิจย่อมแตกต่างกัน ต่อมาให้มองโครงสร้างค่าใช้จ่ายว่าต้นทุนหลักมาจากอะไร อาจจะไม่ต้องเริ่มจากการลดพนักงาน แต่เริ่มจากมองหาเครื่องมือที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ยาว อย่างกรณีของ PTG ขณะนี้ชะลอการรับพนักงานใหม่ และทบทวนค่าทำงานล่วงเวลา หรือสวัสดิการต่างๆ ที่สามารถปรับได้ เช่น ในภาวะวิกฤตินี้พนักงานบางส่วนสามารถทำงานจากบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องมี OT หรือค่าเดินทาง และลดเวลาทำงาน เพิ่ม Productivity โยกย้ายพนักงานไปทำหน้าที่อื่นได้เพื่อนำพาองค์กรไปสู่โครงการใหม่ ๆ

“ทักษะขององค์กรที่สำคัญในอนาคต ช่วงแรกพอวิกฤติเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการเอาตัวรอดหรือการแก้ปัญหา แต่อย่าให้จมอยู่กับปัญหา, การหาโอกาสใหม่ๆ และสร้างความแตกต่าง ซึ่งแต่ละองค์กรปัญหาย่อมแตกต่างกัน ผลกระทบมากน้อยต่างกัน การแก้ปัญหาก็ไม่เหมือนกัน แต่อย่าลืม อย่ามัวแต่นั่งแก้ปัญหา เราต้องมองหาโอกาส และนำมาซึ่งการสร้างความแตกต่าง หากเรานั่งจมอยู่กับปัญหา เราอาจจะพลาดกับโอกาสที่กำลังเข้ามา”นายภูมิพัฒน์ กล่าว

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า วิธีที่จะช่วยทำให้หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้ หรือเป็น New normal เกิดขึ้น และก้าวไปข้างหน้ามากกว่าการนั่งแก้ปัญหา คือ ใช้เวลานี้ทบทวนตนเอง, การลงไปเข้าใจลูกค้า, ทรานฟอร์มองค์กร โดยชวนพนักงานออกจาก Comfort Zone เตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า หรือการทรานฟอร์มกระบวนการขายใหม่ๆ และการวางแผนระยะสั้น เช่น แผน 3 เดือน

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานหลังจากนี้ของ PTG ก็ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ปัญหา และมองหาโอกาส และทำเรื่องของ Transformation กับ Innovation โดย Innovation คือการมองหา Business Model ใหม่ที่จะทำให้สถานีบริการน้ำมันไม่เหมือนเดิม และการทรานฟอร์มองค์กรปัจจุบันให้ก้าวผ่านจากจุดเดิมไปยังจุดใหม่ คาดว่าภาพธุรกิจดังกล่าวน่าจะออกมาให้เห็นได้เร็วๆ นี้ รวมถึงการเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมกับวิกฤตที่จะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งพนักงานที่ทำงานจากที่บ้าน และพนักงานหน้าร้านที่พร้อมดูแลลูกค้า

พร้อมกันนี้มองวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ หากเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะวิกฤติการเงินเอเชียในปี 40 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง มองว่ามีความรุนแรงเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ นอกเอเชียยังแข็งแรง ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อย่างไรก็ตามประเทศไทยที่ในช่วงนั้นค่อนข้างอ่อนแอ เป็นผลมาจากระบบทางการเงินมีหนี้เสียค่อนข้างมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศน้อย การกู้หนี้ยืมสินของต่างประเทศค่อนข้างมาก ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเกิดการเปลี่ยนแปลง และมีภาระหนี้เกิดขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมที่ทำให้ประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ได้แก่ ภาคท่องเที่ยว และส่งออก ขณะที่ภาพของการจ้างงานยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี และไม่ได้มีการเลิกจ้างพนักงานมากนัก โดยตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ 3.8%

แต่หากเทียบกับวิกฤติในครั้งนี้มองว่าตัวเลขเลขการว่างงานน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก หรือเป็นเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และต้องช่วยเหลือกันเอง แต่ไทยถือว่าสภาพคล่องยังดีอยู่ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมรับมือได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบหนักส่วนใหญ่จะเป็นภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งถือเป็นผลกระทบในวงกว้าง โดยภาครัฐถือเป็นตัวหลักในการอัดฉีด หรือเร่งเครื่อง เนื่องด้วยอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบดังกล่าวส่วนใหญ่ใช้กำลังแรงงานสูง และหวังว่าภาคเกษตรก็น่าจะได้รับความช่วยเหลือด้วย เนื่องจากขณะนี้เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากวิกฤตทุกวิกฤติได้ผ่านพ้นไปแล้ว จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น หรือมีธุรกิจใหม่ ส่วนธุรกิจที่ฝ่าฟันวิกฤตไปได้จะเห็นการเติบโตกว่าเดิมทุกครั้ง เห็นได้จากในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารต่างประเทศมีความแข็งแรงมาก และหลังวิกฤติฯ ธนาคารไทยแข็งแรงมาก, ก่อนวิกฤติไทยเป็นตลาดนัดโชห่วย หลังวิกฤติไทยเป็นตลาดนัดติดแอร์ และขยับมาเป็นตลาดนัดออนไลน์ ทำให้มองว่าการเปลี่ยนแปลง หรือการพัฒนา จะเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีวิกฤติ หากมองหาโอกาสก็จะเกิดธุรกิจ อุตสาหกรรมใหม่ได้ตลอดเวลา

“ปัจจุบันยังบอกได้ยากว่าธุรกิจใหม่คืออะไร เนื่องด้วยเราก็พูดถึงกันเพียงแค่การทำออนไลน์ หรือดิลิเวอรี่ แต่ความหมายเรามองว่ามันลึกกว่านั้น เช่น จะดิลิเวอรี่แบบไหนให้ต่างกัน โดยหลังจากนี้ก็มองว่าการใช้ชีวิตของคนจะแตกต่างกัน จากเดิมเราอาจจะเลือกร้านอาหารที่คนเยอะ เพราะว่าคนเยอะแปลว่าต้องอร่อย แต่จากนี้อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะด้วยคำว่า Social Distancing จะทำให้วิถีชีวิตของคนทุกอย่างมีความหมายมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา จนทำให้เราเชื่อ จนกลายเป็นความกังวล และทำให้เกิด New Normal ขึ้น”

นายภูมิพัฒน์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top