นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในกลุ่มของไฟบ้านที่ใช้ในครัวเรือนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน ที่ร่วมมือกันดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการทำงานที่บ้าน หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และทั้ง 3 การไฟฟ้า ได้ร่วมกันหารือเพื่อหาทางช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน
สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้นจะเป็นการช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 22 ล้านราย เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค. ได้ประมาณการว่ามาตรการดังกล่าว จะต้องใช้งบประมาณ 23,688 ล้านบาท
“ยืนยันว่า จะต้องมีการทำการบ้านพิจารณาหามาตรการมารองรับเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบต่อไป ส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบ ก็เริ่มมีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ หรือแจ้งตรงมายังตนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง”
นายสนธิรัตน์ กล่าว
สำหรับมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา มี 2 กลุ่ม คือ
1. มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วย/เดือน หากเกินก็จะได้รับการดูแลให้ใช้ฟรีเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้จะใช้ไม่เกินปริมาณ 150 หน่วยเป็นปกติ และถือว่าใช้ไฟน้อย
2. มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนด คือ หากใช้มากกว่าเดือน ก.พ. แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. แต่หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนที่เกิน 800 หน่วย ซึ่งได้รับส่วนลด 50% และหากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนที่เกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 30% โดยการลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป
โดยเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ดูแลมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าครั้งนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้บริหารจัดการวงเงินส่วนนี้
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะ โฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.จะรอมติอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมครม.ในเรื่องมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนครั้งนี้ หลังจากนั้นก็จะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ.เพื่อพิจารณาแนวทางการนำเงินมาช่วยอุดหนุนส่วนลดค่าไฟฟ้าของประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญของมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีดังนี้
1.สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ประเภทที่ 1.1 หรือ 1.1.1) ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี เป็นเวลา 3 เดือน ในรอบการใช้ไฟฟ้าเดือน มีนาคม ถึง พฤษภาคม 2563 หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยภายใน 3 เดือนดังกล่าวจะไม่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 1.2 หรือ 1.1.2
2.สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ประเภทที่ 1.2 – 1.3 หรือประเภทที่ 1.1.2-1.1.3) ให้จ่ายค่าไฟฟ้ารายเดือนสำหรับรอบการใช้ไฟฟ้าเดือน มีนาคม ถึงพฤษภาคม 2563 โดยใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นฐานในการอ้างอิง ดังนี้
2.1 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนน้อยกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ให้จ่ายค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงในเดือนนั้น ๆ
2.2 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ไม่ถึง 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563
2.3 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมากกว่า 800 หน่วย แต่ไม่ถึง 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บวกด้วยค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้าจริง
2.4 หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมากกว่า 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บวกด้วยค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าไฟฟ้าจริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 63)
Tags: กกพ., กระทรวงพลังงาน, คมกฤช ตันตระวาณิชย์, ค่าไฟ, ค่าไฟฟ้า, ลดค่าไฟ, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์